สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงนามใน “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ” วันที่ 31 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ร่วมเป็นพยานในพิธี
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และสนับสนุนการดำเนินงานด้าน Big Data สำหรับหน่วยงานภาครัฐ โดยมุ่งเน้นในการช่วยเหลือการพัฒนาทางด้านสาธารณสุข และระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น พัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลภาครัฐให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถบูรณาการและให้บริการข้อมูลข้ามหน่วยงานได้อย่างเป็นระบบ รวดเร็ว ปลอดภัยและควบคุมได้ ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต โดยมี ดร.ปิยนุช วุฒิสอน เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้ลงนาม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พิธีลงนามในวันนี้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความร่วมมือกันในการพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านสุขภาพระดับประเทศ โดยใช้เทคโนโลยี Big Data ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลปริมาณมาก และซับซ้อน การนำเทคโนโลยี Big data เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ และการวิเคราะห์ข้อมูล ให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และทันเวลา ทั้งนี้ ขอฝากถึงผู้บริหารที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำกับดูแล ติดตามความก้าวหน้า เนื้อหาสาระที่บรรจุในระบบให้เสร็จสิ้นตามกำหนดและตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ ทั้งสถาบันเชี่ยวชาญ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ได้พัฒนาเป็น Smart Hospital โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหาร และอำนวยความสะดวกในการจัดบริการประชาชน เช่น การจองคิวออนไลน์ ระบบนัดหมาย แจ้งเตือนการฉีดวัคซีน ค้นหาเวชระเบียนออนไลน์ด้วยบัตรประชาชน การบันทึกข้อมูลผู้ป่วย ใช้ข้อมูลเดียวกันทั้งโรงพยาบาลและคลินิกหมอครอบครัว รวมทั้งระบบการรักษาทางไกล (Tele Medicine)
ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ จะเป็นการผลักดันด้านนโยบายการพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยมีความตื่นตัว เรื่อง Big Data อย่างกว้างขวาง องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มปรับตัว และเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคของการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่ง Big Data รวบรวมข้อมูลจำนวนมากมาประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูล และนำไปใช้ประโยชน์ เช่น Dashboard, Data Portal, Analytics with AI และ Data Studio เป็นต้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามยุทธศาสตร์ชาติ ยินดีและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนาทักษะและความรู้บุคลากรภาครัฐ ให้คำแนะนำ ปรึกษา
ทั้งนี้ สดช. จะให้การสนับสนุนในการดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 1. การวางระบบ พัฒนา ออกแบบ บูรณาการ (Consultancy Services) โดยจะให้คำแนะนำปรึกษาและร่วมดำเนินการในการบริหารจัดการและเตรียมการโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือ เพื่อการจัดหา จัดเก็บข้อมูล และการบูรณาการข้อมูลให้เกิดการเชื่อมโยงในอนาคต 2. ให้การสนับสนุนในการพัฒนาทักษะและความรู้บุคลากรภาครัฐ เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการข้อมูล การพัฒนาและจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีด้านการประมวลผลข้อมูล และเทคนิคการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์จากข้อมูล รวมทั้งการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ และ 3. การบริการนำร่องด้านการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล (Analytics and Visualization Initiative Services) โดยจะให้ความช่วยเหลือในการเลือกโจทย์หรือคำถามที่เหมาะสมกับงานและข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน การวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์ การวิเคราะห์เชิงพยากรณ์หรือคาดการณ์ผลลัพธ์ที่อาจจะเกิด
สปสช.จะให้การสนับสนุนข้อมูลการเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่มีการเข้ารหัสข้อมูลภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ว่าด้วยคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลการรักษา ข้อมูลผลตรวจเลือด ข้อมูลการส่งเสริมป้องกันโรค เป็นต้น พร้อมกันนี้ได้ร่วมกันกำหนดรูปแบบ (Patterns) และปัจจัยสำหรับใช้ในการจัดทำต้นแบบทางคณิตศาสตร์กับประชากรในจังหวัดต่าง ๆ โดยจะดำเนินการ ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากร เช่น จำนวนโรงพยาบาล จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ เตียงคนไข้ ข้อมูลการวินิจฉัยโรค เพื่อนำมาวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการจัดทำในส่วนของ Dashboard เพื่อวิเคราะห์ในมุมมองต่าง ๆ ในหลากหลายด้านของข้อมูล