สสส. สานพลัง ภาคีเครือข่ายอำเภอกำแพงแสน จ.นครปฐม ขับเคลื่อนชุมชนล้อมรักษ์ (CBTx) ฟื้นฟูผู้บำบัดอย่างเป็นมิตรด้วย 6 หลักการ ใส่ใจครอบครัวล้อมรั้วชุมชน พ้นภัยยาเสพติดอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ต้นแบบชุมชนบ้านหัวชุก
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนัก1 (สสส.) ลงพื้นที่ถอดสูตรสำเร็จการดำเนินงานขับเคลื่อน “ชุมชนล้อมรักษ์” CBTx พร้อมถอดบทเรียน กลไกลการขับเคลื่อนชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งเสพติดในระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยใช้ “พื้นที่เป็นฐาน ชุมชนเป็นศูนย์กลาง”
พร้อมเปิดวงเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวชุมชนบ้านหัวชุกบัว หมู่ที่ 4 ต.สระพัฒนา พื้นที่ต้นแบบชุมชนล้อมรักษ์ ของอำเภอกำแพงแสน ที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินงานผ่าน 6 หลักการ 1.แต่งตั้งคณะทำงาน 2.ทำประชาคมเพื่อกำหนดแนวทาง 3.เปิดศูนย์คัดกรองยาเสพติดระดับตำบล ค้นหา คัดกรอง ผู้ใช้สารเสพติด 4.ให้การบำบัดรักษาโดยบุคลากรสาธารณสุขตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข 5.ติดตามฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 1 ปี และ 6.พัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก1) สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการดำเนินโครงการและสานพลังโดย กลไก พชอ. และเครือข่ายชุมชนเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด หลักการสำคัญของชุมชนล้อมรักษ์ คือการมีส่วนร่วมของชุมชนซึ่งแต่ละพื้นที่มีวิธีการจัดการของตนเอง ผนวกกับการมีส่วนร่วมของครอบครัวและผู้ใช้สารเสพติดที่จะร่วมออกแบบการช่วยเหลือ
โดยมีสาธารณสุขคอยหนุนเสริม ซึ่งวงเสวนาการแลกเปลี่ยนบทเรียนความสำเร็จของกลไก พชอ. ครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการในทุกมิติ เพื่อให้เกิดผลดีแก่เด็กและเยาวชนในทุกพื้นที่ด้วย
“สสส. เราทำงานป้องกันเด็กเยาวชนจากเหล้าบุหรี่เป็นหลัก ซึ่งหากสภาพแวดล้อมของชุมชนยังมีตัวอย่างของการใช้สารเสพติดทั้งอยู่ในบ้าน ในครอบครัว ชุมชน ก็อาจจะทำให้มีการใช้สารเสพติดในเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น สสส. ให้ความสำคัญในการร่วมแก้ปัญหายาเสพติด ในระดับต้นน้ำจากนโยบายชุมชนล้อมรักษ์
ซึ่งการจะดำเนินการให้สำเร็จได้ต้องเกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง นอกจาก 5 เสือ พชอ. แล้ว ชุมชนต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและพร้อมเปิดใจทำงานไปด้วยกัน ซึ่ง อ.กำแพงแสน มีความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหา ยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ถือว่าชุมชนให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างดีและเป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบที่คนในชุมชนร่วมบำบัดผู้ใช้สารเสพติดอย่างเต็มที่” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นายชัยยุทธ หุ่นเจริญ ปลัดอาวุโส ชำนาญการพิเศษ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม กล่าวว่า กระบวนการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านกลไก พชอ. พื้นที่อำเภอกำแพงแสนกำหนดให้ปัญหายาเสพติด เป็นประเด็นหลักในการแก้ไขปัญหา โดยมีการจัดตั้งชุมชนล้อมรักษ์ CBTx ในปี 2567 เพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ สาธารณสุขประจำตำบล อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และความร่วมมือจากชุมชน
รวมถึงการสร้างประชาคมสร้างความรู้ความเข้าใจปรับเปลี่ยนทัศนคติเข้าใจตรงกันว่า ผู้เสพ คือผู้ป่วยที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษา รวมทั้งติดตามผู้บำบัดด้วยการสื่อสารเชิงบวกและการฟื้นฟูที่เป็นมิตร เพราะการที่ผู้เสพจะยอมรับการรักษาได้ คนในชุมชนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ โดยเกิดจากความเข้มแข็งและความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่
“ตั้งต้นจากสาธารณสุขอำเภอกำแพงแสนจะประสานงานกับ 5 เสือภาคี ครบทุกภาคส่วนเพื่อดึงความร่วมมือมาสู่ชุมชน ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเราดำเนินการเพื่อขยายการทำงานให้ครอบคลุมทุกตำบล เรามีชุมชนต้นแบบที่สามารถช่วยบำบัดผู้เสพจนออกมาจากวงโคจรนั้นมาได้ ซึ่งจะขยายผลไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ต่อไป ขณะเดียวกันก็ลงพื้นที่ให้ความรู้ เพื่อต้องการดึงคนหลงผิดให้เข้าสู่การรักษาที่ถูกต้อง คืนคนดีสู่ชุมชนนั้น ๆ โดยไม่ได้ใช้กฎหมายบังคับข่มขู่ เพื่อให้คนในชุมชนปลอดยาเสพติด และอยู่ร่วมกันเป็นปกติสุข” นายอำนาจ กล่าว
นายบุญเลิศ สระทองล้อม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ชุมชนบ้านหัวชุกบัว ต.สระพัฒนา อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม กล่าวว่า ประชากรที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนบ้านหัวชุกบัว ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรบ่อเลี้ยงกุ้ง ขณะเดียวกันก็มีประชากรแฝงเข้าพักอาศัยอยู่ในพื้นที่จำนวนไม่น้อย ทำให้ยาเสพติดเล็ดลอดสู่ชุมชน จนทำให้มีทั้งผู้ขายและผู้เสพ
ภายหลังจากได้เข้าร่วมโครงการชุมชนล้อมรักษ์ จนกระทั่งมีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมขับเคลื่อนกับชาวชุมชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทำให้ชุมชนตื่นตัวและทำให้เกิดการเอกซเรย์บ้านเรือนแต่ละหลังได้อย่างละเอียด ทำให้สามารถดึงผู้ใช้สารเสพติดในชุมชนเข้าสู่กระบวนการบำบัดได้อย่างรวดเร็ว ผู้บำบัด จะมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชุมชน หรือการออกกำลังกับคนในชุมชนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี จากผลการดำเนินโครงการมีผู้ผ่านการบำบัดในปี 2566 จำนวน 18 ราย