(กสศ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ จัดเสวนาเรื่อง “จากรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ สู่การใช้นวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”

ที่ห้องประชุมสมานสโมสร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย  อึ้งภากรณ์ จัด​เวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “จากรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2562 สู่การใช้นวัตกรรมทางเศรษฐศาสตร์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทย” ดร.ประสาร เตือนอย่าตกหลุมพรางว่างานของ กสศ. ซ้ำซ้อนจนตัดงบประมาณระบุเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข (CCT) แก้เหลื่อมล้ำตรงจุด ลงทุนน้อย ได้ผลมาก ผลวิจัยโนเบลเศรษฐศาสตร์ปี 2019 ชี้ชัดเป็นมาตรการมุ่งแก้ไขปัญหาอุปสงค์ทางการศึกษาตามความต้องการที่แท้จริงเด็กยากจนช่วยเพิ่มอัตราการเข้าเรียนและลดอัตราการหลุดออกจากระบบได้ผลจริง กสศ.เดินหน้า จับมือ J-PAL ดึงทีมวิจัยรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ 2019 ประเมินผลเพื่อพัฒนาเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข

ดร.ประสาร  ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ.

ดร.ประสาร  ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “นวัตกรรมในการจัดทำนโยบายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาบทเรียนจากรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี พ.ศ. 2562” โดยระบุว่าจากการที่ทางราชสถาบันวิทยาศาสตร์สวีเดนมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2562 ให้แก่ นายอะบีจิต บาเนร์จี  นางเอสเธอร์ ดิวโฟล นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) และนายไมเคิล เครเมอร์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดในสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นการยกย่อง “การนำนวัตกรรมการวิจัยเชิงทดลอง” (Experimental Research) มาสนับสนุนการวิจัยเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนา ตนเห็นว่าการมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ถูกที่ถูกเวลาเพราะข้อมูลจากสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UIS) ชี้ว่ายังมีเด็กเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลกที่ยังคงอยู่นอกระบบการศึกษาโดยในจำนวนนี้เป็นเด็กวัยประถมศึกษามากกว่า 60 ล้านคน นอกจากนี้สิ่งที่น่ากังวลไปกว่าจำนวนเด็กนอกระบบคือ ความก้าวหน้าในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในทศวรรษที่ผ่านมาเริ่มชะลอตัวลงกลุ่มเป้าหมาย 5-10% สุดท้ายยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาหรือต้องออกจากการเรียนกลางคันที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ ตัวเลขเด็กนอกระบบการศึกษาในระดับโลกเริ่มกลับมามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นระหว่างปี 2016-2017 อีกครั้ง ในขณะที่ประเทศไทยเองยังมีเด็กเยาวชนอายุ 3-18 ปี ในครอบครัวที่ยากจนและด้อยโอกาสมากกว่า 670,000 คน และยังมีนักเรียนกลุ่มเสี่ยงในครอบครัวที่ยากจนและยากจนพิเศษอีกเกือบ 2 ล้านคนที่อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจากสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโลกที่มีแนวโน้มลดลงในอัตราที่ถดถอยมากซึ่งสะท้อนสภาพปัญหาที่มีความยากมากขึ้นในขณะที่งบประมาณของภาครัฐและเงินบริจาคกลับมีแนวโน้มลดลงจึงมีความจำเป็นที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเลือกใช้มาตรการที่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลมาก ซึ่งนวัตกรรมการวิจัยเชิงทดลองที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้จึงอาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานที่มีภารกิจลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจนสามารถเลือกนโยบายที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาตามบริบทของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน

“จากผลการวิจัยประเมินผลโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากกว่า 31 โครงการทั่วโลกด้วยกระบวนการ Randomized Control Trial (RCT) พบว่านโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยมาตรการที่เจาะจงไปที่ อุปสงค์ต่อการศึกษา (Demand for Education) ซึ่งเป็นมาตรการที่ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของฝั่งผู้เรียนและครอบครัว  หลายมาตรการให้ผลลัพธ์และความคุ้มค่าทางงบประมาณที่สูงกว่ามาตรการด้านอุปทานของการศึกษาที่เน้นผู้จัดการศึกษาเป็นตัวตั้ง เช่น “การลดต้นทุนการเข้าถึงการศึกษา” ด้วยการสนับสนุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือ Conditional Cash Transfer (CCT) ต่ออัตราการมาเรียนของผู้เรียน ซึ่งเป็นมาตรการที่ กสศ.ดำเนินการอยู่หรือการสนับสนุน อาหารเช้า เครื่องแบบ และการเดินทาง แบบมีเงื่อนไข (Non-cash Conditional Transfer: NCT)” ดร.ประสาร กล่าว

ประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า มาตรการที่แก้ปัญหาตรงความต้องการที่แท้จริงของนักเรียนและครอบครัว หรือเจาะจงไปที่อุปสงค์ ได้รับการสนับสนุนจากผลการวิจัยและการประเมินผลด้วยกระบวนการวิจัยเชิงทดลองมามากกว่า 58 งานวิจัย ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ในการทำงานของคณะนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลในปีนี้ และทีมงานของศูนย์วิจัย J-PAL แห่งมหาวิทยาลัย MIT และสถาบันทั่วโลกว่า สามารถเพิ่มอัตราการเข้าเรียน การสำเร็จการศึกษา และลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาของผู้เรียนจากครัวเรือนที่มีความยากจนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และใช้งบประมาณน้อยกว่ามาตรการทางฝั่งอุปทาน อย่างการสร้างโรงเรียน สร้างห้องเรียนเพิ่ม หรือการเพิ่มครู 

ดังนั้นการที่เด็ก เยาวชน หรือ ผู้ปกครอง ปฏิเสธการศึกษา แม้รัฐบาลจะสร้างโรงเรียน หรือจ้างครูเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียงเด็กๆมากขึ้นแล้วไม่ใช่ว่าพวกเขาเป็นคนที่ขาดซึ่งเหตุผลหรือไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาต่ออนาคตของบุตรหลาน แต่คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นการตัดสินใจด้วยมาตรการลดความเหลื่อมล้ำที่เข้าใจในอุปสงค์ต่อการศึกษาของพวกเขาอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบทเฉพาะต่าง ๆ อย่างแท้จริง

ดร.ประสาร กล่าวต่ออีกว่า แม้สถานการณ์ของประเทศไทยในเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้นแม้มีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นบ้างแต่ยังคงมีโจทย์สำคัญหลายเรื่องที่ประเทศไทยควรเร่งจัดการอย่างเป็นระบบก่อนที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวยังมีหลายส่วนที่มีความซับซ้อนเชื่อว่าการแก้ไขต้องทำที่ต้นทางเริ่มจากการทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพซึ่งหลายหน่วยงานทำอยู่ขณะที่ กสศ. มีหน้าที่เสริมความรู้ข้อมูลรวมถึงค้นหาแนวทางใหม่ๆหาสาเหตุว่าการที่เด็กและเยาวชนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้เต็มที่เพราะสาเหตุอะไร 

“เด็กๆที่ต้องเดินทางมาโรงเรียน บางคนอยู่ห่าง 20 กิโล ต้องมีค่าใช้จ่ายเดินทางมา 20 บาท เดินทางกลับอีก 20  บาท  ถ้าพ่อแม่ขายปลาไม่ได้เด็กต้องอยู่บ้านเพราะไม่มีค่าเดินทางไม่มีเงินกินอาหารเช้าบางคนขาดเรียนเป็นบางวันเพราะไม่มีชุดพละ ในขณะที่การแจกเครื่องแบบนักเรียนปูพรมไปทั้งประเทศ แต่ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิตเกษตรบอกว่าไม่ต้องเค้าซื้อเครื่องแบบให้ลูกได้ แล้วครูก็รวบรวมเพื่อไปบริจาคนี่คือสิ่งที่สะท้อนเรื่องของมาตรการฝั่งอุปทานพวกเราต้องระวังอย่าตกหลุมพรางว่างานของ กสศ. ซ้ำซ้อนจนขอตัดงบประมาณทั้งที่ความจริงมันคนละวง คนละภารกิจ ความตั้งใจของคณะกรรมการบริหาร กสศ. จะไม่ทำงานในสเกลใหญ่แต่เราจะหามุมเล่น สำหรับรางวัลรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ ซึ่งเป็นการทำงานวิจัยในแนวทางเดียวกับสิ่งที่ กสศ. ทำอยู่จึงเป็นจังหวะที่ดีมากเพื่อทำความเข้าใจว่า ที่คุณทำอยู่ใช้เงินมากเน้นการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาจากฝั่งผู้จัดการศึกษาแต่ กสศ. จะเข้ามาเสริมใช้ข้อมูลความรู้  ทำให้ถูกที่ถูกทางเน้นมาตรการที่ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาตรงตามความต้องการที่แท้จริงของฝั่งผู้เรียนและครอบครัว ซึ่งจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล กสศ. ทำที่ต้นเหตุไม่ทิ้งปัญหายากจนข้ามชั่วคนในขณะที่แจกเงิน ชิม  ช้อป ใช้ จะหมดในรุ่นต่อไป” ดร.ประสาร กล่าว

ดร.ไกรยส  ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ดร.ไกรยส  ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กสศ.ได้ร่วมประชุมหาแนวทางความร่วมมือทางวิชาการกับศูนย์วิจัย (Abdul Latif Jameel Poverty Action Lab) J-PAL แห่งมหาวิทยาลัย MIT สาขาภูมิภาคอาเซียน ณ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อพัฒนากรอบแนวทางความร่วมมือเพื่อวิจัยประเมินผลโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ กสศ. ด้วยเครื่องมือนวัตกรรมการวิจัยเชิงทดลอง (Randomized Controlled Trials: RCT) ซึ่งเป็นแนวทางของนักวิจัยรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ โดยศูนย์วิจัย J-PAL จะคัดเลือกทีมนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย MIT และ สถาบันวิชาการภาคี เพื่อมาสนับสนุนการทำงานวิจัยประเมินผลโครงการของ กสศ. ในประเทศไทย โดยอาจจะเริ่มทดลองในบ้างพื้นที่ก่อนในปีการศึกษา 1/2563 นี้ เนื่องจาก กสศ.มีงบประมาณที่จำกัดไม่สามารถดำเนินงานได้ทั้งประเทศ การประเมินผลลักษณะนี้ จะช่วยให้มีผลการวิจัยที่มีคุณภาพสูงเพื่อประกอบการตัดสินใจปรับปรุงพัฒนามาตรการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่ กสศ. และหน่วยงานภาคี หรือกำหนดทิศทางการทำงานของ กสศ.ว่าควรมุ่งทำงานในส่วนไหนก่อน ภายใต้งบประมาณที่จำกัด และทำอย่างไรให้งานของ กสศ.สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างยั่งยืนแท้จริง คาดว่าจะได้เห็นรูปธรรมในช่วงกลางปีหน้าที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการทำงานของทีมนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลร่วมกับทีมนักวิจัยในประเทศไทยเพื่อพัฒนามาตรการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ กสศ. และ หน่วยงานภาคีดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

“กสศ. พยายามจะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ตรงจุด โดยเฉพาะปัญหาในฝั่งอุปสงค์ทางการศึกษา (Demand-side) ทั้งเรื่องการลดต้นทุนในการเข้าสู่ระบบการศึกษา และการประเมินคุณค่าในการศึกษาต่อของผู้เรียนจากครอบครัวที่ยากจน ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้เงินไม่มาก แต่ผลการวิจัยจากนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลพบว่าได้ผลต่อความเสมอภาคสูง (High-impact)  เช่น โครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Tranfer: CCT) นั้นเด็กๆ ที่ได้รับเงินอุดหนุนไปจะต้องมีเงื่อนไขตามเกณฑ์คือมาเรียนไม่น้อยกว่า 80% ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่านักเรียนยากจนพิเศษที่รับทุน กสศ.ไป มาเรียนครบตามเกณฑ์ 98%  ส่วนอีก 2% กสศ.จะต้องไปติดตามว่าเด็กมีปัญหาอย่างไร รวมถึงเรื่องดัชนีมวลกายหรือค่า BMI ซึ่งมีอยู่ราว 2 แสนคนหรือราวร้อยละ 30 ที่ยังมีน้ำหนักส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่ 1.3 แสนคนสูงเกินมาตรฐานตรงนี้เป็นสิ่งที่ กสศ. พยายามจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาที่ต้นทางให้ตรงจุดจากการนำงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลมาเรียนรู้ และทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยในต่างประเทศและในประเทศเพื่อช่วยให้สังคมผู้เสียภาษีมีความมั่นใจมากขึ้นว่า กสศ. เราจะใช้เงินเหล่านั้นไปถึงตัวเด็กเยาวชนและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดของเงินที่ได้รับมาทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับมาทั้งจากรัฐบาลและจากการบริจาคของภาคเอกชนและประชาชน” ดร.ไกรยส กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *