สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า แถลงความสำเร็จการจัดงานมหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลระดับนานาชาติ “Digital Thailand Big Bang 2019” ที่จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 28 – 31 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด สร้างเม็ดเงินสะพัดระหว่างการจัดงาน 1,082 ล้านบาท ผู้แทนสถานทูตกว่า 20 ประเทศร่วมพิธีเปิดกระตุ้นการรับรู้ระดับนานาชาติ ภาครัฐ-เอกชน ตื่นตัวร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวม 10 ฉบับ เบิกทางสู่เมืองอัจฉริยะประเทศไทยด้วยการประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ถึง 27 เขต มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดงานทั้ง 4 วัน มีประชาชนเข้าร่วมงานรวมสูงถึง 584,417 คน
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวถึงภาพรวมการจัดงานว่า งาน Digital Thailand Big Bang 2019 เกิดปรากฏการณ์มากมายในหลาย ๆ ด้าน เริ่มตั้งแต่ได้รับเกียรติจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งแสดงถึงความสำคัญในระดับประเทศ ส่วนในระดับนานาชาตินั้นมีผู้แทนสถานทูต 24 ประเทศที่มาร่วมพิธีเปิดเช่นกัน ตลอดการจัดงานเราได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการคัดสรรวิทยากรชั้นนำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจากทั่วโลกรวมกว่า 300 ท่าน
โดย The Next Web และ Creative Talk บูธนิทรรศการน่าตื่นตาจากกว่า 500 หน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งเต็มไปด้วยกิจกรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยที่แต่ละหน่วยงานมาจัดแสดงให้ประชาชนได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ, กิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น เกมเสริมทักษะโค้ดดิ้ง “หมูป่า”, กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ E-Edutainment,หุ่นบ๊องประลองพลัง Hebocon, กิจกรรม ASEAN Strartup Hackathon เวทีระดมสมองพัฒนาโซลูชั่นตอบโจทย์ Smart City ตลอดจนโซน Showcase ทั้ง 3 โซน Digital Economy, Digital Society และ Creativity เปิดไอเดียการปรับใช้ Drone เข้ากับบริบทต่างๆ, ประชาชนได้ทดลองนั่ง Hyperloop และ คอนเสิร์ตที่มี Robot KUKA ร่วมเล่นกับศิลปินจาก Smallroom เป็นต้น
“ด้วยจากความตั้งใจในการจัดงานปีนี้ ที่อยากจะสร้างประสบการณ์ตรงด้านดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ผนวกกับการบรรยายโดยนักพูดชื่อดังจากทั่วโลก ทำให้ปีนี้ มีผู้ร่วมงานมากกว่าทุกปีที่ผ่านมารวมทั้งทางผู้ที่มีส่วนร่วมในออนไลน์ และ มาร่วมในงานรวมกว่า 584,417 คน ซึ่งบรรลุเกิดกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ในด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจนั้น สามารถสร้างเม็ดเงินลงทุนระหว่างการจัดงานกว่า 514 ล้านบาท จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมออกบูธกว่า 500 บูธ เกิดคู่เจรจาทางธุรกิจถึง 838 ราย สร้างเม็ดเงินสะพัดตลอดการจัดงานกว่า 1,082 ล้านบาท” ผอ.ใหญ่ดีป้า กล่าวเสริม
ด้าน นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (กลุ่มงานเศรษฐกิจดิจิทัล) กล่าวถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้นภายในงานว่า “งาน Digital Thailand Big Bang 2019 ได้เกิดบันทึกข้อตกลงเพื่อความร่วมมือระดับนานาชาติด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ หน่วยงานระดับนานาชาติ ถึง 9 ฉบับ และอีก 1 ฉบับ เป็นบันทึกความร่วมมือระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ กระทรวงสาธารณสุข รวม 10 ฉบับ สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงมีขึ้นทั้งในพิธีเปิด โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นสักขีพยาน และพิธีปิดของงานมีรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นสักขีพยาน
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนที่ได้มีการจัดกิจกรรมการแข่งขันเพื่อพัฒนาและส่งเสริมสตาร์ทอัพอาเซียน ASEAN Startup Hackathon ในงานด้วย เป็นเวทีให้สตาร์ทอัพ ได้นำเสนอแนวคิดและแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนานวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในกลุ่มอาเซียน
สำหรับภาคการศึกษา ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (กลุ่มงานสังคมและกำลังคนดิจิทัล) เปิดเผยว่างานในปีนี้ นอกจากจะได้รับความสนใจในภาคการศึกษาเป็นจำนวนมาก ทั้งในการร่วมออกบูธนิทรรศการที่ได้แสดงผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีของนักศึกษา รวมถึงในลานโค้ดดิ้ง การ์เด้น ซึ่งได้รวบรวมกลุ่มโรงเรียนร่วมพัฒนา กลุ่มโรงเรียน Maker Space เอง ที่ได้ให้เยาวชนแสดงออกถึงความเข้าใจในเรื่องการโค้ดดิ้ง การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลออกมาเป็นผลงานต่าง ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ รวมกว่า 50 ผลงาน มีเยาวชนจากทั่วประเทศเดินทางมาเข้าร่วมชมงานตลอด 4 วัน เกือบ 4,000 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวในการเสริมทักษะเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคของสถาบันการศึกษาของประเทศไทย
ทั้งนี้ภายในงานยังได้มีการประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (กลุ่มงานโครงการพิเศษ) ในงาน Digital Thailand Big Bang 2019 มีพิธีมอบใบประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะประเทศไทย โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยาน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของผลลัพธ์ในการทุ่มเทผลักดันเมืองอัจฉริยะของไทย และเกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เราได้ประการถึง 27 เขต ใน 22 จังหวัด ครบถ้วนทั้ง 5 ภูมิภาค ทั่วประเทศ แบ่งเป็น ภาคเหนือ 7 เขต, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 เขต, ภาคกลางและตะวันตก 1 เขต, ภาคตะวันออก 6 เขต และ ภาคใต้ 8 เขต โดยทั้ง 27 เขต มีความพร้อมในการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ เพื่อขอรับการพิจารณาเป็นเมืองอัจฉริยะจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งการประกาศเขตในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของผลลัพธ์ในการทุ่มเทผลักดันเมืองอัจฉริยะของไทย และเกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้งาน Digital Thailand Big Bang 2019 มีความหมายสำหรับโครงการ World Expo 2020 Dubai ด้าน ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร) กล่าวว่า บูธ World Expo 2020 Dubai ได้รับความสนใจจากผู้ที่มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ประชาชนได้สอบถามถึงการก่อสร้างที่
ต้องต่อสู้กับสภาพอากาศที่ร้อน และ ประชาชนจำนวนหนึ่งสนใจที่จะเดินทางไปเยี่ยมชมอาคารแสดงประจำประเทศไทยด้วยตนเองด้วย ปัจจุบันอาคารแสดงประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความคืบหน้ามากที่สุดเป็นลำดับต้น ๆ และเป็นเพียงสามประเทศในเอเชียที่เริ่มการก่อสร้างแล้ว ซึ่งเป็นไปตามแผนการดำเนินงาน
โดยต่อจากนี้ก็จะเข้าสู่การนำถอยหลังวันงานภายใต้แคมเปญ One Year to Go ที่จะมุ่งเน้นเชิญชวนให้คนในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมกับ Thailand Pavilion มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษา คนทำงานหรือผู้สูงอายุ เพราะกิจกรรมมีตั้งแต่ การประกวดออกแบบชุดของเจ้าหน้าที่ การประกาศรับสมัครเยาวชนอาสาสมัครร่วมเป็นตัวแทนคนไทยในอาคารแสดงประเทศไทย รวมไปถึงการเปิดรับผลิตภัณฑ์สินค้าไทยมีคุณภาพเพื่อไปร่วมจัดแสดงในงานและเปิดตลาดในแถบตะวันออกกลาง
ดร.ณัฐพล กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า งาน Digital Thailand Big Bang 2019 ปีนี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เกิดเป็นปรากฏการณ์ “รวมผลคนดิจิทัล” ครั้งยิ่งใหญ่ โดยในปีนี้ภายใต้ธีม ASEAN Connectivity จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาดิจิทัล และการนำดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ร่วมกันในอาเซียน นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดแรงผลักดัน สนับสนุน ดิจิทัลสตาร์ทอัพ และอุตสาหกรรมเกษตร ภาคธุรกิจดิจิทัล ในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ผู้สูงวัย SME ในพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะทั้ง 22 จังหวัด และขยายไปทั่วประเทศในอนาคตอันใกล้