กสศ.เฟ้นหาสถานศึกษาร่วมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น2

กสศ.เฟ้นหาสถานศึกษาร่วมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ห้องแซฟไฟร์ 201 อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมชี้แจงโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โดยมีสถานศึกษาสายอาชีพจากทั่วประเทศที่สนใจเข้าร่วมรับฟังแนวทางของโครงการทุนนวัตกรรมฯกว่า 250 สถานศึกษาสายอาชีพทั่วประเทศและมีผุ้เข้าร่วมกว่า 400 คน เน้นแผนผลิตคนป้อนสถานประกอบการโดยตรง การันตีเรียนจบมีงานทำทันที

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมส่วนร่วม นวัตกรรม และทุนการศึกษา กสศ.

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมส่วนร่วม นวัตกรรม และทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน – 9 ธันวาคม 2562 กสศ.เปิดรับข้อเสนอโครงการผ่านระบบออนไลน์จากสถานศึกษาสายอาชีพที่เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง/อนุปริญญาทุกสังกัดเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทุนนวัตกรรมสายอายชีพชั้นสูง รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ซึ่งเป็นทุนพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่มีศักยภาพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้ศึกษาต่อสายอาชีพ ในสาขาวิชาที่เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ประเทศไทย 4.0 ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) รวมถึงสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิตอล และสาขาที่ขาดแคลนด้านสายอาชีพ ในท้องถิ่นหรือจังหวัด

สำหรับการพิจารณาคัดเลือกสถานศึกษาสายอาชีพเข้าร่วมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จะมุ่งเน้น 6 เกณฑ์คุณภาพ ได้แก่ 1.ด้านความพร้อมความเชื่อมั่น ในคุณภาพสาขาหลักสูตร โอกาสการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชนในลักษณะ Matching Fund ผลการผลิตนักศึกษาที่ได้รับการจ้างงานเป็นที่ยอมรับและพึงพอใจของสถานประกอบการ และชุมชนท้องถิ่น 2.การจัดแนะแนวและประชาสัมพันธ์เชิงรุกเกี่ยวกับทุนการศึกษาให้กับสถานศึกษาที่มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษากลุ่มยากจนหรือด้อยโอกาสหนาแน่น 3.วิธีการค้นหาและคัดเลือกนักเรียนเข้ารับทุน ที่ยึดหลักการมีส่วนร่วม โปร่งใสและเป็นธรรม 4.ระบบดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของผู้รับทุนให้สามารถเรียนจบตามกำหนดเวลา 5.การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพสูงตามสาขาวิชา นำไปสู่สมรรถนะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจเทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Skills) และ 6. การส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของผู้ที่จะจบการศึกษา เช่น การทำความร่วมมือกับภาคีทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น

นางสาวธันว์ธิดา กล่าวต่ออีกว่า สำหรับงบประมาณที่กสศ.จัดสรรนอกจากค่าใช้จ่ายทุนการศึกษาให้แก่ที่นักศึกษาผู้รับทุนในส่วนของค่าใช้จ่ายประจำเดือนและค่าธรรมเนียมการศึกษาในอัตราประหยัดแล้ว สถานศึกษาสายอาชีพที่ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการจะได้รับงบประมาณสนับสนุนในกิจกรรมการค้นหาและคัดเลือกผู้รับทุน กิจกรรมพัฒนายกระดับคุณภาพการเรียนการสอนอีกด้วย จากการดำเนินงานทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ให้แก่นักศึกษารับทุนจำนวน 2,113 คน จากสถานศึกษาสายอาชีพทุกสังกัดจำนวน 36 แห่ง สามารถเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนคือ กสศ.สร้างโอกาสให้แก่เยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ครอบครัวรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 แรกของประเทศ ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อสายอาชีพ โดยไม่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นไปตามภารกิจหลักของกสศ. ขณะเดียวกันยังเกิดความร่วมมือระหว่าง กสศ.กับเครือข่ายสถานศึกษาในลักษณะพันธมิตรยกระดับคุณภาพหลักสูตรการเรียนการสอน และความร่วมมือกับเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชนในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศมากกว่า 50 แห่ง เพื่อส่งเสริมโอกาสการมีงานทำ ผ่านรูปแบบทวิภาคี รวมถึงการพัฒนาระบบการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพนักศึกษาทุน ผ่านกลไกสำคัญจากครูที่เป็นทั้งผู้สอน และโค้ชชีวิตให้คำปรึกษาคำแนะนำจนจบการศึกษา


ด้านศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ. และผู้บุกเบิกทุนการศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกตั้งแต่ปี 2541 กล่าวว่า เกณฑ์การคัดเลือกสถานศึกษาในปี 2563 ให้ความสำคัญกับแผนการเพิ่มโอกาสการมีงานทำเป็นหลัก ถ้าสถานศึกษาใดมีโครงการความร่วมมือผลิตบุคลากรให้กับสถานประกอบการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมหรือมีข้อตกลงการพัฒนานักศึกษาให้กับสถานประกอบการโดยตรง มีการประกันการมีงานทำทันทีเมื่อเรียนจบ จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เพื่อมั่นใจได้ว่านักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เมื่อจบการศึกษาจะมีงานทำตรงความต้องการตลาดแรงงานแน่นอน รวมไปถึงการผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานสำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย

ทั้งนี้ กสศ.จะมีการพิจารณาเปรียบเทียบคุณภาพข้อเสนอโครงการ และคัดเลือกข้อเสนอโครงการที่มีคุณภาพสูงสุดประมาณการขั้นต้น 50 โครงการ โดยในปีนี้ กสศ. ต้องเตรียมการแต่เนิ่นจึงเชิญประชุมและประชาสัมพันธ์ในช่วงนี้ แต่งบประมาณที่แน่นอนจะต้องรอ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณผ่านการพิจารณาของรัฐสภา คาดว่าจะทราบผลในเดือน ธ.ค. 62 – ม.ค. 63 นี้ สำหรับสถานศึกษาสายอาชีพที่เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง/อนุปริญญาที่สนใจ สามารถยื่นข้อเสนอโครงการ ผ่านระบบรับสมัคร Online ระหว่างวันที่ 18 พ.ย. – 9 ธ.ค. 2562 ทางเว็บไซต์ กสศ. www.EEF.or.th เท่านั้น หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-0795475 ต่อ 2

ด้านอาจารย์เจษฎา ยะหวา ผู้รับผิดชอบโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 1 วิทยาลัยการอาชีพอ่าวลึก จ.กระบี่ กล่าวว่า จากการเข้าร่วมโครงการ สิ่งที่ยกระดับคุณภาพหลักสูตรแบบร้อยเปอร์เซ็นต์คือการฝึกงานในหลักสูตรการท่องเที่ยวและการโรงแรม ซึ่งมีนักศึกษาทุนเรียนอยู่ เดิมปกติการฝึกงานในหลักสูตรปกติของวิทยาลัยไม่ได้เป็นรูปแบบทวิภาคีจะเรียนและฝึกงาน 1 เทอม แต่หลังเข้าร่วมโครงการทุนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกสศ. วิทยาลัยสามารถจัดหลักสูตรเป็นรูปแบบทวิภาคี ทำให้นักศึกษาเรียน 1 เทอม ฝึกงาน 1 ปี แล้วกลับมาเรียนต่อในเทอมหลัง ระหว่างฝึกงานยังสลับสถานประกอบการฝึกงานที่อื่นได้อีกไม่จำเป็นต้องฝึกที่เดียว เท่ากับว่าระยะเวลาฝึกงานและได้ประสบการณ์ได้เพิ่มขึ้น นั่นทำให้นักศึกษาอยู่ฝึกงานกับสถานประกอบการนานขึ้น มีโอกาสเรียนรู้การปฏิบัติงานจริงและเข้าทำงานได้หลังจบการศึกษา แต่ถ้ายังเป็นการเรียนแบบเดิมที่ฝึกงาน 1 เทอม เหมือนตอนที่ยังไม่มีระบบเรียนแบบทวิภาคีเข้ามา ไม่สามารถเกิดการพัฒนาทักษะการทำงานได้เต็มที่แน่นอน

“โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ยังสร้างประโยชน์กับนักศึกษาภาคปกติและนักศึกษาทุนในโครงการทุนนวัตกรรมฯ เพราะถือว่าทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะคนใดคนหนึ่ง ส่วนใหญ่นักศึกษาทุนที่คัดเลือกมาถือเป็นเด็กที่เก่ง มีจิตอาสา และมีความสามารถพิเศษ เด็กทุนหลายๆคนตอนนี้มีสถานประกอบการจองตัวรับเข้าทำงานหลังจบการศึกษาแล้ว ทำให้ตอนนี้มีหลายวิทยาลัยมาขอศึกษาดูงาน ทุกอย่างเป็นกลไกจากการเข้าร่วมโครงการกับ กสศ.” อ.เจษฎา ระบุ

ด้านอาจารย์คมสรรค์ ภูทอง ผู้รับผิดชอบโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 1 วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี กล่าวว่า โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเข้ามาเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตัวผู้เรียน พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ๆ ที่สามารถขยายผลได้จริง อย่างเช่นการเรียนสาขาช่างอากาศยานทุกวันนี้ที่วิทยาลัยมีเพียงระดับ ปวส.เท่านั้น พอได้ทุนสนับสนุนจาก กสศ.ทำให้วิทยาลัยวางแผนต่อยอดพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์ ในระดับปวช. โดยประยุกต์บางวิชาในระดับ ปวส.มาสอนในระดับ ปวช.เพื่อปูทางสู่การเรียนช่างอากาศยานในระดับ ปวส.ต่อไป ขณะเดียวกันยังตอบโจทย์ตลาดแรงงานบนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เนื่องจากวิทยาลัยตั้งอยู่บนพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจสำคัญ ขณะเดียวกันหลักสูตรวิชาการเรียนโลจิกติสได้ถูกพัฒนาใส่รูปแบบการเรียนการสอนทางเทคโนโลยีเข้าไปกลายเป็นหลักสูตรเทคโนโลยีโลจิกติสด้วย

“นอกเหนือจากเรื่องหลักสูตรที่ดีมีคุณภาพขึ้นแล้ว เด็กๆที่ได้รับทุนยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไม่ต้องรับจ้างทำงานพิเศษหลังเลิกเรียน ส่งผลให้นักศึกษามีผลการเรียนสูงขึ้นทุกคน และยังมีการสอนเสริมวิชาภาษาต่างประเทศ สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ส่งผลให้นักศึกษาหลายคนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสถานศึกษาและตัวผู้เรียนผ่านกลไกการส่งเสริมและการสนับสนุนจาก กสศ.” อ.คมสรรค์ กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *