สวทช. แถลงผลงานปี 62 งานวิจัยตอบโจทย์และหนุน s-curve ประเทศพร้อมชี้ปี 63 มุ่งงานวิจัยขับเคลื่อน BCG

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวผลงาน สวทช. ประจำปี 2562 “NSTDA Beyond Limits: Sustainability Impact วิถีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นำเสนอผลสรุปและเผยผลงานโชว์ศักยภาพงานวิจัย สวทช. ประจำปี 2562 ที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทิศทางการวิจัยและพัฒนา รวมถึงผลงานสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 กับไฮไลท์สำคัญกับการนำเสนอบทบาทของ สวทช. (NSTDA BCG in Action) ในเรื่อง BCG Economy Model ที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจแบบทั่วถึง ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลและประเทศ ใน 4 อุตสาหกรรมหลัก คือ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานและวัสดุและเคมีชีวภาพ และท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนา Big Data เพื่อสนับสนุนและรองรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ นำโดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแห่งชาติทั้ง 4 ศูนย์ (ไบโอเทค เนคเทค เอ็มเทค และนาโนเทค) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 62 ที่ห้องแซฟไฟร์ 113 อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม 1 เมืองทองธานี

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า “สืบเนื่องจากการเดินหน้าผลักดันผลงานตลอดปีงบประมาณ 2562 ด้วยกลยุทธ์บริหารงานภายใต้แนวคิด ‘NSTDA Beyond Limits : 6-6-10’ ได้แก่ 6 Research Pillars, 6 Frontier Research และ 10 Technology Development Groups (TDGs) ซึ่งเป็นกรอบพัฒนาเพื่อมุ่งสร้างความเข้มแข็งและความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ขั้นสูง ที่สร้างขีดความสามารถของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตอบโจทย์นโยบายประเทศไทย 4.0 ทำให้เกิดผลงานเด่น สวทช. ในรอบปี 2562 ด้วยกันหลายผลงาน ซึ่งตอบโจทย์ในกลยุทธ์ที่ตั้งไว้ และเติมเต็มในส่วนของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy Model ที่พร้อมใช้งานทันที และเป็นผลงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (new s-curve)”

โดยตัวอย่างผลงานที่เกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อาทิ ผลงาน LOMAR โดย เอ็มเทค สวทช. เป็นน้ำยางพาราข้นสำหรับผสมกับแฮสฟัสต์เพื่อทำถนน ทดแทนการใช้น้ำยางพาราข้นทางการค้า ในปี 2562 มีการนำไปใช้ปูลาดทางเพิ่มขึ้น 1,850 กิโลเมตร สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 1,200 ล้านบาท ผลงานเทคโนโลยีแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดย ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อแก้ปัญหามันสำปะหลังที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้มากถึง 80% ทั้งในด้านการตรวจวินิจฉัยไวรัสใบด่าง การพัฒนาสายพันธุ์และผลิตท่อนพันธุ์ปลอดโรค และสารชีวภัณฑ์กำจัดโรคและแมลง ผลงานด้าน Smart Farmer การพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งออก เพิ่มบทบาทการพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ของไทย คาดการณ์ว่าจะมีการส่งออกเมล็ดพันธุ์ถึง 8,300 ล้านบาท ส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ อาทิ เดนตีสแกน 2.0 เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรมและศัลยกรรม โดย ศูนย์ A-MED สวทช. สามารถติดตั้งเครื่องในโรงพยาบาลของรัฐ 60 เครื่อง และมีการถ่ายภาพผู้ป่วยไปแล้วมากกว่า 7,000 ครั้ง

ขณะที่ตัวอย่างผลงานกลุ่มพลังงานเคมีและวัสดุชีวภาพ อาทิ การจัดตั้ง แล็บทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทยและในอาเซียน โดยความร่วมมือของ PTEC สวทช. กับ บริษัท เมอร์เซเดส เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเปิดให้ใช้บริการแล้ว ถุงพลาสติกย่อยสลายสำหรับขยะเศษอาหาร โดยเอ็มเทค สวทช. และภาคเอกชน สามารถย่อยสลายเองได้ภายใน 3 – 4 เดือน นำร่องใช้จริงแล้วในงานกาชาดที่ผ่านมา และอุตสาหกรรมในกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาทิ เทคโนโลยีเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมแบบพลังงานแสงอาทิตย์ โดย สวทช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อติดตามเส้นทางอพยพของเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและญี่ปุ่น ที่เขาดินสอ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซึ่งเป็นสถานที่ชมเหยี่ยวอพยพที่สำคัญระดับโลก ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว กระจายแหล่งท่องเที่ยวสู่เมืองรอง เพื่อการพัฒนาสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน รวมถึงงานวิจัยกลุ่ม BIG DATA ที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ AI for Thai แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย โดย เนคเทค สวทช. เป็น Thai AI Service Platform ที่รวมผลงาน AI ที่พัฒนาเข้าด้วยกัน ทั้ง AI ประมวลผลภาษาตามธรรมชาติของภาษาไทย งานด้านเข้าใจภาพบริบท รู้จัก รู้จำ และสร้างเสียงพูดภาษาไทย เพื่อใช้งานใน Chatbot โลจิสติกส์ การแพทย์ และการท่องเที่ยว โดยพบว่าตั้งแต่เปิดตัวมามีผู้เข้าใช้งานแล้วกว่า 1,700 คน

สำหรับผลงานสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 จะเน้นการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์การเดินหน้า BCG ทั้งใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป็นหลักตามนโยบายของรัฐบาล อาทิ ถังเลี้ยงปลาหนาแน่น โดย ไบโอเทค สวทช. รองรับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ผลงานการยกระดับอุตสาหกรรมโคนมไทยด้วย วทน. ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ อาทิ สุขภาพของโคนม อาหาร ชีวภัณฑ์ กระบวนการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากโคนม รวมถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับนม ซึ่งมีโครงการที่ยกระดับผลิตภัณฑ์นมของไทย โดย นาโนเทค สวทช. รองรับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร  Digital Dentistry Platform โดยศูนย์ A-MED สวทช. รองรับอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ Biodegradability Testing การวิจัยและทดสอบการย่อยสลายของพลาสติกและยาง ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ที่ขยายผลงานด้วยการใช้นวัตกรรมที่ย่อยสลายตัวได้ โดย เอ็มเทค สวทช. รองรับอุตสาหกรรมพลังงานเคมีและวัสดุชีวภาพ และผลงาน AI For Thai next ในเฟสต่อไป โดย เนคเทค สวทช. ที่จะขยายผลและพัฒนาให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็น Big Data ที่จะรองรับอุตสาหกรรม BCG เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจแบบทั่วถึงทุกภาคส่วน

“ในปี 2563 นี้ สวทช. มุ่งเน้นและปรับกระบวนทัศน์ภายในองค์กร เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประเทศไทย 4.0 ได้อย่างแท้จริง เกิดงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ BCG Economy Model เศรษฐกิจแนวใหม่แบบทั่วถึง โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา และการบริหารจัดการเทคโนโลยีที่ สวทช. มีอยู่ พร้อมกลไกการพัฒนา 4 ตัวขับเคลื่อน (BCG Drivers) คือ การพัฒนาใน 4 สาขาของ BCG การพัฒนาเชิงพื้นที่ การเตรียมกำลังคน ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการ และการพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า รวมถึง 4 ตัวสนับสนุน (BCG Enablers) คือ การปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ การสร้างความสามารถของกำลังคน โครงสร้างพื้นฐานสำคัญและสิ่งอำนวยความสะดวก และการยกระดับเครือข่ายพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งงานวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ เหล่านี้ สวทช. เชื่อมั่นว่า การใช้ วทน. มาต่อยอดและเชื่อมเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน จะสามารถสร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคม พร้อมกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจหลักที่เป็นเป้าหมายของประเทศ เกิดวิถีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ต่อไป” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวสรุป

ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.

ด้านผู้บริหารศูนย์วิจัยแห่งชาติทั้ง 4 ศูนย์ของ สวทช. ชี้แนวทิศทางและผลงานสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 เพื่อตอบโจทย์การดำเนินงานในภาพรวมของ สวทช. โดยในส่วนของ ไบโอเทค ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า  เทคโนโลยีชีวภาพมีบทบาทที่สำคัญต่อชีวิต ตอบโจทย์ความต้องการ สร้างความอยู่ดีกินดีของประชากร เติมมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในยุคปัจจุบัน มุ่งเน้นที่คุณภาพออกแบบได้ (Quality by Design) มีคุณสมบัติที่จำเพาะ (Functional Features) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สารชีวภัณฑ์จากธรรมชาติทดแทนสารเคมีที่เป็นพิษต่อเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำความหนาแน่นสูงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ตอบโจทย์ความต้องการโปรตีนของอุตสาหกรรมและชุมชน กระบวนการไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery) ต่อยอดใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าการหมักวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรด้วยจุลินทรีย์ เพื่อผลิตสารเคมีชีวภาพ ช่วยลดการเผาทำลาย ซึ่งเป็นสาเหตุปัญหามลภาวะฝุ่น PM2.5 เครื่องมือตรวจสอบสายพันธุ์กัญชา เพื่อการเก็บรวบรวมระยะยาวในธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand)  และสายพันธุ์กัญชาไทยที่ผลิตสารออกฤทธิ์ Cannabidiol (CBD) ในปริมาณที่ออกแบบไว้ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.

ด้านเนคเทค ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. กล่าวว่าปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีส่วนสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อการดำเนินงานของหลายภาคส่วน เนคเทคได้วิจัยและพัฒนา AI FOR THAI: Thai AI Service Platform หรือแพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทย เพื่อเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานด้าน AI ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและบริการ ยกระดับประสิทธิภาพของภาคเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ เป็นแพลตฟอร์มสําหรับเศรษฐกิจในอนาคต และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืน และรองรับการสร้างสรรค์งานที่สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจด้วยปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานรากการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน มุ่งสู่ความเป็น AI Nation

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.

ขณะที่เอ็มเทค ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า เอ็มเทค สวทช. จะมุ่งพัฒนางานวิจัยตาม 4 กลุ่มหลักภายใต้ BCG Economy Model ได้แก่ งานวิจัยด้านเทคโนโลยียางธรรมชาติ เช่น Green & Safe Latex ปฏิรูปการผลิตน้ำยางข้นและผลิตภัณฑ์โดยเน้นลดสารเคมีที่เป็นพิษและลดโปรตีนที่ก่อให้เกิดการแพ้ เป็นต้น รวมถึงต่อยอดในส่วนของ ParaFIT และ LOMAR ในเฟสต่อไป รวมถึงมุ่งในงานวิจัยด้านการทดสอบการย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradability Testing) ตลอดจนงานวิจัยด้านชีวมวลและวัสดุเหลือทิ้ง เช่น Biomass & Waste Materials ที่ศึกษาการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งในอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยด้านเทคโนโลยีพลังงาน ที่จะขยายผลการใช้งานน้ำมันเชื้อเพลิง B10 และสร้างขีดความสามารถรองรับน้ำมัน B20 และงานวิจัยด้านเทคโนโลยีวัสดุกับการพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ ที่เป็นเทคโนโลยีสารสกัด สำหรับใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในการเตรียมอาหาร และในผู้สูงอายุ ตลอดจนงานวิจัยด้านการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หรือ Life Cycle Assessment (LCA) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อไป

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช.

และท้ายสุดกับนาโนเทค ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่าจากความสำเร็จในปี 2562 ที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีหลักอย่างเทคโนโลยีการกักเก็บในระดับนาโน (Nano Encapsulation) ที่ตอบโจทย์ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร และปศุสัตว์ โดยในปี 2563 นี้ จะเป็นการขยับและต่อยอดสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ BCG Economy Model ของประเทศสู่ความยั่งยืน ในด้านที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยี 2 เรื่องหลัก ได้แก่ การชูนวัตกรรมตอบอุตสาหกรรมโคนมแบบครบวงจร นำร่องนมอัดเม็ดและนมผงเติมโภชนาการที่ขาดในแต่ละพื้นที่ และอีกเรื่องคือ งานวิจัยชั้นแนวหน้าในอนาคตอย่างนาโนโรโบติก (Nano Robotic) ที่จะปูทางงานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้วย “เข็มนาโน/ไมโคร” เป็นการสร้างจักรกล/หุ่นยนต์ขนาดนาโนเมตรที่ออกแบบให้ทำงานได้เองภายในร่างกายตามภารกิจต่าง ๆ เช่น ระบบนำส่งยาแบบมุ่งเป้า และการผ่าตัด เป็นต้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *