ภาพรวมสถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยในระยะ ๓๐ ปีที่ผ่านมา สถานการณ์แม้ว่าเหมือนจะดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อดูตัวเลขสัดส่วนความยากจนของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ เท่ากับร้อยละ ๖๕.๑๗ และค่อย ๆ ลดลงเหลือร้อยละ ๗.๘๗ ในปี ๒๕๖๐ จำนวนคนจนลดลงจาก ๓๔.๑ ล้านคน เหลือ ๕.๓ ล้านคน และพบว่าคนจนยังคงกระจุกตัวหนาแน่นอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ ๑๒.๙๖ ภาคใต้ร้อยละ ๙.๘๓ ภาคกลางร้อยละ ๕.๒๐ และกรุงเทพมหานครร้อยละ ๑.๓๖ โดยรวมปัจจุบันคือคนที่มีรายได้ปานกลาง (ขยับจากคนรายได้น้อยในอดีต) และรายได้น้อยยังเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มากกว่า ๙๐% ที่ต้องอดทนกับสภาวะเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนี้
มาว่าด้วยเรื่องอาชีพของประชากรไทยส่วนใหญ่ คือเกษตรกรรมอันเป็นอาชีพดั้งเดิมของชนชาวไทย แรกเริ่มผมมีความเข้าใจว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเชิดชูแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ โดยสังเกตจากการเชิญอาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ให้มาเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งนับเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันเกี่ยวกับการทำเกษตรพอเพียงตามแนวทฤษฎีใหม่ หลงจินตนาการไปว่าพี่น้องชาวไร่ชาวนาจะสามารถลืมตาอ้าปากและพื้นฐานของเกษตรกรจะแข็งแกร่งขึ้นจากการยืนหยัดด้วยลำแข้งของตนเอง เพราะศาสตร์ของพระราชาสามารถนำพาให้คนค่อนประเทศอยู่อย่างมีความสุขและพอเพียงโดยเน้นการพึ่งตนเองให้มั่นคงยั่งยืนมากว่าระบบทุนนิยม แต่ดูไปดูมาจนถึงวันนี้ เหมือนเล่นปาหี่ที่เอาท่านอาจารย์ยักษ์มาเป็นตัวประกัน เพื่อสร้างภาพ ด้วยเพราะไม่เห็นผลเชิงประจักษ์ต่อทิศทางการเกษตรของไทยในรูปแบบการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรมแบบยั่งยืน ที่จะมุ่งผลสัมฤทธิ์สร้างผลงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมด้วยการมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ตามเป้าหมายครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ให้ได้ในปี ๒๕๗๓ ซึ่งถ้าทำได้จะล้อไปกับปีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติด้วย เพื่อให้เกษตรกรได้ลดต้นทุน พึ่งพาตนเองและที่สำคัญต้องปลอดภัยไร้สารพิษตกค้างในมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง!
อีกเรื่องคือบทสรุปการแบน ๓ สารพิษเป็นสิ่งตอกย้ำให้เห็นธาตุแท้ของรัฐบาลนี้ ที่ไม่จริงใจต่อประชาชนและแผ่นดินเกิด เพราะท้ายสุดปล่อยให้มีการ “ยกเลิกการแบน” การใช้ยาฆ่าหญ้า “ไกลโฟเซต” แถมยืดระยะเวลาการแบนของ คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต ออกไปอีก ๖ เดือน ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาเตือนแล้วเตือนอีกว่าจะทำให้สุขภาพของประชาชนเจ็บป่วย ล้มตาย สิ้นเปลืองงบประมาณในการรักษาพยาบาลจากโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ สารพิษจากนมแม่สู่ลูก โรคมะเร็งที่เกิดกับหนุ่มสาวอายุไม่มากต้องเจ็บป่วยล้มตายก่อนวัยอันควร ซึ่งความจริงแล้วยังมีสารพิษทางการเกษตรอื่น ๆ อีกเป็นร้อยชนิดยังไม่ได้ตรวจสอบและหยุดการใช้
ปัญหาของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับประเทศและระดับโลก เนื่องด้วยเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนทั้งสุขภาพ การอุปโภคบริโภค การส่งออก การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ถ้ารัฐบาลชุดนี้ตระหนักถึงผลเสียการสั่งสมของสารพิษที่ยาวนาน จนทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายที่ประเมินมูลค่ามิได้ เมื่อเทียบกับผลกำไรเพียงเล็กน้อยของนายทุนไม่กี่ราย คิดง่าย ๆ แค่เพียงคนไทยไม่สามารถ ดื่ม ใช้ ทรัพยากร “น้ำ” “น้ำฝน” ตาม ห้วย หนอง คลอง บึง ได้จากธรรมชาติ เช่น เด็กเลี้ยงวัว เลี้ยงควายจะกอบหรือตักน้ำริมทางขึ้นมาดื่มแก้กระหาย ยังทำไม่ได้เพราะปนเปื้อน ต้องซื้อจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้ออย่างเดียวเท่านั้น บ้านเมืองเรามาถึงวันนี้ได้อย่างไร ถ้าวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาลดี เข้าใจบริบท และวิถีเกษตรกรรมของคนไทย ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาดไว้ให้ลูกหลาน อาจไม่จำเป็นต้องซื้อน้ำดื่มตลอดไปก็ได้ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการดำรงชีวิตไปมหาศาล แต่ทำไม? รัฐบาลนี้จึงคิดไม่ได้
ปัจจุบันเกษตรกรมากกว่า ๒ ล้านครัวเรือน และแรงงานภาคการเกษตรจำนวน ๑๒ ล้านคนต้องอยู่อย่างลำบากยากเข็น เนื่องด้วยนโยบายของรัฐบาลไม่สนับสนุนส่งเสริมสอดคล้องกับชนชั้นรากหญ้า แต่กลับไปเสริมสร้างความร่ำรวยให้กับมหาเศรษฐีเพียงไม่กี่ตระกูลของประเทศให้ร่ำรวยมากยิ่ง ๆ ขึ้น ทั้งนโยบายการนำเข้ามะพร้าวจากอินโดนีเซีย นำเข้าน้ำมันปาล์ม โครงการบัตรสวัสดิการ ช้อป ช่วย ชาติ, ชิม ช้อป ใช้ วิธีการนำบัตรไปรูดกับร้านสะดวกซื้อ โมเดิร์นเทรดเป็นส่วนใหญ่ ส่วนร้านขายของชำเล็ก ๆ น้อย ๆ แทบไม่มีส่วนร่วม ทำให้เงินที่ประชาชนรูดใช้ไป เงินก็กลับไปสู่กระเป๋าคนรวยทันทีโดยอาศัยมือคนจนเป็นเพียงผู้ส่งผ่าน แม้แต่การกำหนดนโยบายดอกเบี้ยให้สูง ๆ เพื่อให้ต่างชาติปล่อยกู้ได้ง่าย ๆ รัฐบาลขายพันธบัตรให้ดอกเบี้ยสูง เงินบาทก็แข็งค่า ส่งออกได้น้อย ราคาสินค้าเกษตรจึงตกต่ำ นี่คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่าเอื้อต่อนายทุนมากกว่าประชาชนทั่วไป และที่สำคัญต่อให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูง แต่ประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ ก็ไม่มีปัญญานำเงินไปฝากธนาคารอยู่ดี เรื่องนี้ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจควรหันมาดูแลแก้ไขในเรื่องค่าเงินให้อ่อน เพื่อจะได้เพิ่มตัวเลขการส่งออก สามารถช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้โดยตรง ทิศทางในอนาคตถ้ารัฐบาลไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไขบริหารจัดการให้คนส่วนใหญ่ได้ผลประโยชน์มากกว่าคนส่วนน้อย เศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะชนชั้นรากหญ้าจะอัตคัด ข้นแค้น ขาดกำลังซื้อมากขึ้นไปอีก เพราะเครื่องจักรที่ผลักดันเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนี้ดับไปหลายเครื่อง ทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก การลงทุนของต่างประเทศ ถ้าประชาชนคนต่างจังหวัดล้มอีก คราวนี้ประเทศจะขาดกำแพงฐานรากให้พึ่งพิง จึงแตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ อย่างสิ้นเชิง โครงการ EEC ความหวังสุดท้ายก็ต้องลุ้นว่าจะมีคนมาลงทุน และการจ้างงานระหว่างเครื่องจักรที่ทดแทนแรงงานคนจะก่อให้เกิดผลดีผลเสียต่อการจ้างงานอย่างไร?
ข้อเสนอแนะ รัฐบาลควรกำหนดเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ จัดตั้งกองทุนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ จัดตั้งกองทุนพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการกระจายน้ำระดับครัวเรือนเพื่อสร้างปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการทำเกษตรอินทรีย์ จัดตั้งกองทุนเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรม จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมากำกับดูแล และต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและท้าทายในการสร้างเครือข่ายการทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น รัฐบาลควรมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) ของประชาชนทุกภาคส่วนตั้งแต่ผู้บริโภค เกษตรกร นักวิจัย อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ให้มีความตระหนักรู้ถึงอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และความสำคัญของการบริโภคสินค้าเกษตรที่มาจากแปลงเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์ ควรกำหนดทิศทางให้ประเทศมีความชัดเจนในการเป็นผู้ผลิตอาหารออร์แกนิค และส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ให้เป็นวาระแห่งชาติที่สอดคล้องกับวิถีคนไทย โดยยึดแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ควรพิจารณาจัดทำแผนส่งเสริมการเพาะปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตได้ ในพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อจำหน่ายในตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ และตอบสนองความ ต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ ควรยกเลิกและจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง การจัดทำระบบเฝ้าระวังสารพิษตกค้างที่มี ประสิทธิภาพ โปร่งใส และสอดประสานกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การใช้มาตรการทางภาษีโดยยกระดับให้มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเช่นเดียวกับการเก็บภาษีทั่วไป หรือเพิ่มระดับภาษีของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระดับสูง การสนับสนุนภาษีงบประมาณและตลาดเพื่อเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืน การสนับสนุนนวัตกรรมที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประกอบด้วย การเพาะปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีวิธีการหลัก การใช้เครื่องจักรการเกษตรจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การใช้ระบบ Agriculture Digital Marketing ในระบบการเกษตรของไทย
รัฐบาลควรลดขั้นตอนและกำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์ให้ง่ายขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมจากสารชีวภัณฑ์ให้มากยิ่งขึ้น และยกเลิกการกำหนดให้สารชีวภัณฑ์เป็นวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียน ซึ่งสร้างความเข้าใจที่ผิดพลาดต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไป รวมถึงควรผลักดันให้มีตลาดรองรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร โดยอาจอยู่ในรูปตลาดเกษตรกร (Farmers’ Market) หรือการบริหารจัดการตลาดที่เกษตรกรมีส่วนร่วม
สนับสนุนบทความโดยนายมนตรี บุญจรัส
กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)