สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัด “กิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ตอน สนุกกับเอนไซม์และนวัตกรรมอาหาร” แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 110 คน จากโรงเรียนในเขตจังหวัดปทุมธานี และระยอง เมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ สวทช. ซึ่งได้รับการสนับสนุนการจัดกิจกรรมโดยโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ผ่านกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์จากพี่ ๆ นักวิจัยทีมไบโอเทค สวทช. ที่ให้น้อง ๆ ได้ทดลองทำด้วยตนเองในฐานกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมสนุกกับเอนไซน์ กิจกรรมงานสร้างสรรค์บนผืนผ้ารักษ์โลก และกิจกรรมเกี่ยวกับนวัตกรรมอาหาร เป็นต้น เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความช่างสังเกต รู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในช่วงอายุที่สามารถเรียนรู้ได้สูงสุด โดยใช้แนวทางการลงมือทำด้วยตัวเอง (hands-on) และนำต้นแบบขยายผลสู่โรงเรียน วางรากฐานระยะยาวในการเตรียมพร้อมและสร้างนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรุ่นใหม่ ให้ประเทศไทยมีบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ
กิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ตอน สนุกกับเอนไซม์และนวัตกรรมอาหาร เริ่มต้นด้วยการบรรยายให้ความรู้แก่น้อง ๆ นักเรียนในเรื่องกว่าจะมาเป็นเอนไซม์และประโยชน์ของเอนไซม์ ต่อด้วยกิจกรรมมารู้จักเทคโนโลยีเอนไซน์และเอนไซม์เอนอีซ (ENZease) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อทดแทนสารเคมีการผลิตผ้าได้ 100% ซึ่งลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและสารเคมีที่จะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม รวมถึงน้อง ๆ นักเรียนทุกคนยังได้รังสรรค์ผลงานศิลปะของตนเองลงบนกระเป๋าผ้าผ่านกิจกรรมงานสร้างสรรค์บนผืนผ้ารักษ์โลก โดยพี่ ๆ ทีมวิจัยเทคโนโลยีเอนไซม์ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.
ขณะที่ช่วงบ่าย น้อง ๆ ได้ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับนวัตกรรมอาหาร เพื่อให้เข้าใจลักษณะธรรมชาติ วิธีตรวจวัดคุณภาพและความสดของไข่ และเข้าใจสมบีติเชิงหน้าที่ของไข่ฝนผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงฐานตามหาไซเดอร์วิเนการ์ (น้ำส้มสายชูหมัก) ที่น้อง ๆ จะได้รู้จักและสามารถเลือกวัตถุดิบ เข้าใจกระบวนการผลิต การใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อให้รู้ถึงเกณฑ์มาตรฐานและการตรวจสอบคุณภาพ โดยพี่ ๆ ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร กลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร จากศูนย์ไบโอเทค สวทช.
ด้านน้อง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม น้องแก้ว ด.ญ.ณิชาดา จั่นทอง จากโรงเรียนบ้านหนองฆ้อ จังหวัดระยอง เล่าว่า ชื่นชอบกิจกรรมไข่ไข่เป็นพิเศษ ทำให้ได้รู้ลักษณะทางธรรมชาติและความสดของไข่ ได้ลงมือการวัดค่า PH ของไข่ได้ และยังได้รู้ถึงคุณสมบัติของไข่ด้วย ส่วนน้องวิตามิน ด.ช.ณัฐดนัย ว่องไว จากโรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยาคม จังหวัดปทุมธานี เล่าว่า ชอบกิจกรรมการสกัดสิ่งสกปรกของแป้งออกจากผ้า ทำให้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ถ้าหากไปเจอผ้าแบบนี้ ก็สามารถใช้วิธีแก้โดยการใช้สิ่งที่เรียนรู้ไปวันนี้