สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้วยวิจัยและนวัตกรรม โดยนำนวัตกรรมม้วนเส้นไหมยืนที่ออกแบบและพัฒนาขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต และมูลค่าของผลิตภัณฑ์ โดย วช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ยกระดับคุณภาพการผลิตผ้าพื้นเมืองที่ครอบคลุมกระบวนการ ตั้งแต่การเตรียมเส้นยืนก่อนการทอ การออกแบบอุปกรณ์ม้วนเส้นไหม และการทอผ้า
วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2563 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร.พรเทพ ศักดิ์สุจริต ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ได้ติดตามความสำเร็จของการนำนวัตกรรมเทคนิคการม้วนเส้นด้ายยืน ไปใช้ในการเพิ่มศักยภาพชุมชน ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนหว้าทอง ต.โนนม่วง อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจทอผ้าไหมที่สามารถนำนวัตกรรมไปผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในกระบวนการผลิต
ปัจจุบันสมาชิกของกลุ่มมีรายได้ในการผลิตผ้าพื้นเมือง เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า และผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.) จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจได้รับการตอบรับจากหน่วยงานส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของภาครัฐและผู้ประกอบการเอกชน นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายภายนอกชุมชนอย่างต่อเนื่อง
“นวัตกรรมเทคนิคการม้วนเส้นด้ายยืน” มี ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ อริยะเครือ มทร.พระนคร เป็นหัวหน้าโครงการ โดยวช.สนับสนุนภายใต้แผนงานโครงการการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อชุมชนสังคม Research and Innovation Utilization for Community เทคนิคการม้วนเส้นยืน สามารถใช้งานได้ง่ายไม่ซับซ้อน ประหยัดเนื้อที่ ลดแรงงาน โดยได้เส้นด้ายที่มีความเหนียวและมีคุณภาพดี เนื้อผ้าสวยงาม ลดการเกิดรอยตำหนิ เส้นยืนตึงสม่ำเสมอ เมื่อนำไปทอเป็นผ้าไหมแล้ว จะได้ผ้าไหมคุณภาพดี ผ่านเกณฑ์มาตรฐานและเป็นที่ต้องการของตลาด
ขณะนี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 และผู้ประกอบการกลุ่มผ้าพื้นเมืองในพื้นที่ ให้ความสนใจและเตรียมสนับสนุนต่อยอดทางธุรกิจ เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบและการวางกลไกทางการตลาด เพื่อส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานสินค้าและรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน