สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับกรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย แถลงการทำงานร่วมกันขับเคลื่อนโครงการวิจัยท้าทายไทย “กำจัดไวรัสตับอักเสบจากประเทศไทย” เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาสำคัญระดับชาติ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญด้านสุขภาพของประชากรโลกและไทย โดยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกมากกว่าการเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) วัณโรค และมาลาเรีย ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เรื้อรังทั่วโลกประมาณ 257 ล้านคนและติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ประมาณ 71 ล้านคน สำหรับประเทศไทย มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 7.5 แสนคน ซึ่งการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับตามมา
องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งเป้ากำจัดไวรัสตับอักเสบให้หมดไปภายในปี 2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้าโดยมีเป้าหมายหลัก 4 ประการ คือ
1) ลดการติดเชื้อรายใหม่ของไวรัสตับอักเสบ บี และซี ให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 90
2) ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี จะต้องได้รับการวินิจฉัยให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 90
3) ผู้ที่รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อแบบเรื้อรัง จะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาให้ได้ อย่างน้อยร้อยละ 80
4) ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคตับแข็ง และมะเร็งตับให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 65
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ซึ่งเป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยหลักของประเทศ และเป็นหน่วยงานกลางในการประสานเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในการทำงานร่วมกันบนพื้นฐานงานวิจัยเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ผ่านกลไกการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยประเด็นท้าทาย เพื่อมุ่งเน้นกำจัดไวรัสตับอักเสบให้หมดไปจากประเทศไทยในปี 2573 เป็นหนึ่งในประเทศที่จะขับเคลื่อนให้ได้ผล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสนับสนุนมี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการในส่วนของการวิจัยเพื่อให้เกิดผล (Implementation Research) โดยมีโครงการนำร่องที่จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นจังหวัดต้นแบบ และจะนำมาขยายผลไปทั่วประเทศ เพื่อให้ไวรัสตับอักเสบหมดไปจากประเทศไทย ภายใน 10 ปี สอดคล้องกับเป้าหมายองค์การอนามัยโลก “วช. และภาคีเครือข่ายเชื่อมั่นว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถกำจัดไวรัสตับอักเสบให้หมดไปได้ และบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้”
ด้านนายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงโครงการฯว่า กรมควบคุมโรคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยท้าทายไทย “กำจัดไวรัสตับอักเสบจากประเทศไทย” ซึ่งโครงการฯนี้เป็นความมุ่งมั่นแบบสากลที่คนทั้งโลกจะได้ร่วมช่วยกันจัดการกับ “โรคตับอักเสบ” ให้ลดน้อยลงจนไม่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ และสาธารณสุขอีกต่อไป โดยมีเป้าหมายที่จะกำจัดให้หมดจากประเทศไทยภายในปี 2030 หรืออีก 10 ปีนับจากนี้ โดยที่การดำเนินงานขับเคลื่อนต้องอาศัยความร่วมมืออย่างบูรณาการในการลดการติดเชื้อด้วยการค้นหาผู้ที่ติดเชื้ออยู่แล้ว และนำเข้าสู่การรักษาเพื่อลดการเจ็บป่วย และการเสียชีวิตของประชาชนในอนาคต
ทั้งนี้ กรมฯถือเป็นภารกิจที่ท้าทายรวมถึงต้องอาศัยระยะเวลาและความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของหน่วยงานทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดันดำเนินโครงการฯให้บรรลุตามเป้าหมาย และในส่วนของกระทรวงสาธารณะสุขนั้นได้มีการพัฒนาแนวทางการตรวจวินิจฉัยผู้ที่เข้าข่ายที่จะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบไม่ว่าจะเป็น ไวรัสตับอักเสบบี หรือไวรัสตับอักเสบซีให้ทั่วถึง พร้อมทั้งมีการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพในการให้การดูแลรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนหายขาดจากโรคไวรัสตับอักเสบซี ส่วนไวรัสตับอักเสบบี ในอนาคตจะพยายามพัฒนาการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อกำจัด “โรคไวรัสตับอักเสบ” ให้หมดไปจากประเทศไทย
ด้านนพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพการรับประกันมีความพยายามให้ประชาชนได้มีโอกาสได้เข้าถึงสิทธิระบบรับประกันรวมถึงคุณภาพมาตรฐานของการให้บริการที่ดี และเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาการติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบ ทำให้ผลพลวงของการติดเชื้อสุดท้ายกลายเป็นโรคมะเร็งตับ ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูงถ้าหากมีการมองอย่างเป็นระบบและมีการเตรียมการ การเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ก็จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ ทั้งนี้ โครงการวิจัยท้าทายไทย “กำจัดไวรัสตับอักเสบจากประเทศไทย” อาจจะเป็นต้นแบบ และจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การขยายผลในการลดจำนวนผู้ติเชื้อฯในอนาคต ส่วนสิทธิประโยชน์อาจจะยังไม่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม นอกจากประชากรกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่ม แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน และงานวิจัยที่จะเป็นสิ่งนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายเผื่อผลักดันให้โครงการฯให้ประสบผลสำเร็จ ส่วนของสำนักงานฯก็พร้อมที่จะนำเสนอข้อมูลต่างๆในเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่สิทธิประโยชน์ในการให้บริการกับประชาชนสืบต่อไป
ด้านดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ความท้าทายที่จะกำจัดโรคใดโรคหนึ่งให้หมดไปจากประเทศไทยถือว่าเป็นข่าวดี ขณะที่ปัจจุบันต้องเผชิญกับโรคใหม่ๆอย่างเช่น “โคโรน่าไวรัส” ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่สร้างความตื่นตระหนกความกังวลให้กับประชาชน นอกจากนี้โรค NCD หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเจ็บป่วย และการเสียชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน สำหรับโรคบางโรคได้มีการศึกษา พัฒนา และวิจัยมาทั้งระบบ รวมทั้งการวิจัยวัคซีนต่างๆมาเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ จนถึงวันที่ประกาศว่าเราจะก้าวไปสู่การกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบให้หมดไปเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ส่วนเรื่องการกำจัดไวรัสตับอักเสบให้หมดไปภายในปี 2030
ด้านนายแพทย์ชินวัตร์ สุทธิวนา นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทยมีความยินดีที่จะสนับสนุนด้านวิชาการเพื่อการผลักดันโครงการฯให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และพยายามที่จะลดแรงต้านต่างๆเพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิและได้รับการรักษาทุกคน
ด้านนพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยท้าทายไทย “กำจัดไวรัสตับอักเสบจากประเทศไทย” ที่มีประสบการการดูแลเรื่องโรคตับมากว่า 40 ปี และมีโมเดลการทำวัคซีนกับประชาชนประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต เพราะมีการวางแผนนำร่องในการจัดการ โดยเริ่มที่จังหวัดชลบุรี และเชียงใหม่แล้วขยายมาเรื่อยๆทำให้ขณะนี้เด็กที่เกิดใหม่ไม่มีปัญหาการติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบ สำหรับโครงการฯนี้เป็นโครงการฯที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากที่ผ่านมาได้ต่อสู้กับโรคไวรัสตับอักเสบมาโดยตลอด ขณะที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดชัดเจนตั้งแต่ปี 2016 ถึงการจะกำจัดโรคให้หมดไปภายในปี 2030 ประกอบกับบางประเทศได้เริ่มดำเนินการกันบ้างแล้ว
สำหรับประเทศไทยนั้นปัญหาไวรัสตับอักเสบบี และซี ศูนย์ฯมีโครงการศึกษานำร่องก่อนหน้านี้แล้วถึง 3 ปี โดยเฉพาะที่จังหวัดเพชรบูรณ์ได้ทำการศึกษามาโดยตลอด ส่วนสาเหตุที่เลือกจังหวัดนี้ก็เพราะมีผู้เป็นมะเร็งตับสูงที่สุดในประเทศไทย ขณะที่การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเท่าเทียมกับจังหวัดอื่นๆ แต่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสูงที่สุดของประเทศไทย จึงเป็นสาเหตุในการเลือกจังหวัดที่ยากที่สุดในการทำโครงการฯ โดยการเลือกหน่วยเล็กๆขึ้นมาก่อนเป็นรูปแบบจำลองขึ้นมาในการที่จะขจัดกวาดล้างโรคไวรัสตับอักเสบทั้งบี และซีให้หมดไปจากประเทศไทย และจะเอาตัวอย่างจากจังหวัดเพชรบูรณ์นี้เป็นโมเดลที่จะขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆต่อไปให้ครบทั้ง 77 จังหวัด