กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กระทรวงกลาโหม (กห.) ลงนามความร่วมมือ “โครงการจัดตั้งและดำเนินการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ล้ำสมัยที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคง” เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการวิจัยนวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคงแบบสหสาขาวิชา และเป็นศูนย์กลางในเครือข่ายงานวิจัยนวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
โดยศูนย์ดังกล่าวจะอาศัยความเชี่ยวชาญของบุคลากรของทั้งสามหน่วยงาน เพื่อร่วมกันทำงานวิจัยและพัฒนาทางด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ฯ สร้างองค์ความรู้พื้นฐานและเชิงประยุกต์แบบสหสาขาวิชา (Multidisciplinary Basic/Applied Research) พร้อมผลักดันองค์ความรู้ เทคโนโลยี และผลงานวิจัยสู่ผู้ใช้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคงของประเทศไทยต่อไป โดยมี รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวง อว. เป็นประธานในการลงนาม พร้อมด้วย พลเอก นภนต์ สร้างสมวงษ์ รองปลัดกลาโหม พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ผู้แทน เจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กระทรวงกลาโหม ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมลงนาม
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงระบบผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ ล้วนต้องการเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง และมีอายุการใช้งานอย่างยาวนาน แบตเตอรี่เป็นเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นเทคโนโลยีที่อยู่บนฐานของวัสดุประเภทลิเธียม (Li) อันเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่จำกัดและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ในภาวะไม่ปกติ ภาวะฉุกเฉิน หรือเกิดสงคราม ประเทศไทยอาจจะประสบปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานได้ ทีมวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีแนวคิดในการที่จะพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ที่อยู่บนฐานของการใช้วัสดุซึ่งมีอยู่มากในประเทศไทย เพื่อสร้างนวัตกรรมการพัฒนาแบตเตอรี่ประเภทใหม่ๆ และยังส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตด้วย
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความยินดีที่ สวทช. และกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กระทรวงกลาโหม เล็งเห็นความสำคัญในประเด็นเดียวกัน และร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้งและดำเนินการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ล้ำสมัยที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคง โดยมุ่งไปที่การบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงาน และร่วมกันพัฒนาแบตเตอรี่ประเภทใหม่แต่มีกระบวนการผลิตที่ใกล้เคียงกับการผลิตแบตเตอรี่ชนิดไอออนลิเธียมเดิม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นไปต่อยอดการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้โดยง่ายแต่ยังสามารถใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศไทยได้ การลงนามครั้งนี้จะสร้างความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา หน่วยงานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย และภาคความมั่นคงภายในประเทศ ที่จะร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ และสามารถนำไปใช้พัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ทางด้านระบบกักเก็บพลังงานเพื่อความมั่นคงของประเทศต่อไป” ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ กล่าว
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. โดย ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (National Security and Dual-Use Technology Center: NSD) ร่วมมือสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการวิจัยนวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคงแบบสหสาขาวิชา และเป็นศูนย์กลางในเครือข่ายงานวิจัยนวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นศูนย์กลางเครือข่ายวิจัยนวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศ เกิดการลดการพึ่งพาวัตถุดิบและการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงการสูญเสียเงินตรา นอกจากนี้ ยังมีโครงการวิจัยและพัฒนาในส่วนของการพัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่ร่วมกัน ตลอดจนการร่วมกันพัฒนากำลังบุคลากรวิจัยและบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศ รวมถึงแบตเตอรี่ที่มีความปลอดภัยสูง ไม่เกิดการระเบิด เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
“สวทช. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการสนับสนุนทรัพยากรและบุคลากรวิจัยเพื่อร่วมกันทำงานกับทั้ง 2 หน่วยงาน และสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการฯ ด้วยงบประมาณไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลาความร่วมมือ ซึ่งพิจารณาสนับสนุนเป็นรายปี เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน ตลอดจนส่งเสริมให้มีการขยายขอบเขตของการดำเนินโครงการย่อยร่วมกันเพิ่มขึ้นด้วย” ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล กล่าว
พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ผู้แทน เจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กระทรวงกลาโหม กล่าวว่าสืบเนื่องจาก รมว.กห. กรุณาอนุมัติยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2560 – 2579 เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศของ กห. ที่สำคัญ คือ การเร่งรัดพัฒนาเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดยมุ่งแสวงหาความร่วมมือกับเครือข่ายด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ กห. กับ หน่วยงานด้านการศึกษา ด้านการวิจัยและพัฒนาและภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อให้มีเครือข่ายที่เกื้อกูลการดำเนินงานซึ่งกันและกัน จนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการพึ่งพาตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม
สวทช. มีหนังสือประสาน วท.กห. ขอจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดตั้งและดำเนินการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ล้ำสมัย ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคง โดยความร่วมมือระหว่าง สวทช. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กห. เพื่อร่วมกันดำเนินการวิจัยและพัฒนา รวมถึงพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย และบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของกองทัพ ในฐานะผู้นำผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ล้ำสมัยฯ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดตั้งและดำเนินการศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัตกรรมแบตเตอรี่ล้ำสมัย ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคง โดยความร่วมมือระหว่าง สวทช. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กห. จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยและพัฒนาการทหาร ซึ่งเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2560 – 2579 อันจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศของ กห. ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทั้งสามฝ่าย สามารถสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ให้สามารถผลิตได้เองเพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ และสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมส่งออกได้ต่อไป” พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ กล่าว