วันที่ 17 ก.พ.ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ลงพื้นที่เพื่อประชุม “บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ร่วมกับมหาวิทยาลัย ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นโยบายและชี้แจงถึงความจำเป็นในการปลดล็อคมหาวิทยาลัยเพื่อปรับลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยตามกลุ่มยุทธศาสตร์ ได้แก่
1.มหาวิทยาลัยที่จะต้องไปแข่งขันระดับโลก 2.มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 3.มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์และพัฒนาพื้นที่ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน BCG Economic Model โดยอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับ งบประมาณทุนวิจัย ของมหาวิทยาลัย และโครงการต่างๆ ของ อว. ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
จากนั้น ดร.สุวิทย์ ได้ประกาศเจตนารมณ์การสร้างคนผ่านโครงการยุวชนสร้างชาติ ว่า โครงการยุวชนสร้างชาติ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศและเป็นโครงการสำคัญในการปฎิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้พลังเยาวชนไทยเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมทั้งปฏิรูประบบการเรียนรู้สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน เปิดโอกาสให้ยุวชนนำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีไปพัฒนาพื้นที่ชนบท พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และผู้ประกอบการยุคใหม่อีกด้วย
โครงการยุวชนสร้างชาติ ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โครงการยุวชนอาสา: สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 กลุ่มละ 8-10 คนแบบคละศาสตร์ (วิทย์-สังคม) เรียนรู้และพักอาศัยในชุมชนเป็นเวลา 1 ภาคเรียน (4-5 เดือน) และได้รับหน่วยกิตเทียบเท่าการเรียนในชั้นเรียนทั้งภาคเรียน 2.โครงการบัณฑิตอาสา: สำหรับบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี กลุ่มละ 8-10 คนแบบคละศาสตร์ (วิทย์-สังคม) ลงพื้นที่พักอาศัยและทำโครงการในชุมชนเป็นระยะเวลา 12 เดือน และ 3.โครงการกองทุนยุวสตาร์ทอัพ : สำหรับนักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่ที่มีความสนใจเป็นผู้ประกอบการ และต้องการรวมกลุ่มกันจัดตั้งสตาร์ทอัพ(Start-up)
ต่อมา ดร.สุวิทย์ฯ ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงการอุดมฯ โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ลงพื้นที่สู่เส้นทางยุวชนสร้างชาติบัณฑิตอาสาอุดรธานี พื้นที่นำร่องบ้านห้วยสำราญแหล่งปลูกไม้ดอกใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ต.หนองไฮ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ภายใต้กิจกรรม “ยกระดับเกษตรพื้นบ้าน สู่เกษตรปลอดสาร มาตรฐาน GAP” ซึ่งบ้านห้วยสำราญ เป็นแหล่งผลิตไม้ดอกเพื่อการท่องเที่ยว ซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่มีปัญหาพันธุ์ไม้ดอกกลายพันธุ์ โรคโคนเน่า ใบแห้ง การระบาดของแมลงเพลี้ยไฟ ขาดแรงงาน ระบบน้ำในแปลงไม่ทั่วถึง มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมากและเกษตรกรไม่ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบของการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ทั้งยังมีต้นทุนการผลิตสูง ถูกกดราคา ขาดการวางบแผนการผลิต สินค้าล้นตลาด รวมกลุ่มไม่ได้ ตลาดชุมชนไม่เป็นระบบ มีปัญหาด้านการจัดการขยะมูลฝอย
ดร.สุวิทย์ เปิดเผยว่าหลังการเยี่ยมชมว่า บ้านห้วยสำราญ จะเป็นโครงการนำร่องที่จะนำบัณฑิตอาสาลงมาแก้ปัญหา อาทิ โครงการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต การแปรรูป การตลาด และยกระดับภาคเกษตรสู่เกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น โดยทุกโครงการจะมุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นระบบภายใต้ศักยภาพและปัญหาที่สำคัญของแต่ละพื้นที่ เน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นสำคัญ โดยที่บ้านห้วยสำราญ อว.จะร่วมกับสภาอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยพื้นที่ขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ โดยมีบัณฑิตอาสา เป็นฟันเฟืองในการทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
ด้าน นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร (สอก.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็น Service Organization เพื่อให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย และเชื่อมโยงความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ด้วยสภาฯ เรา มีเครือข่ายเชื่อมโยง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 12 คัสเตอร์ และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ ที่ให้บริการผู้ประกอบการสมาชิกของสภาอุตสาหกรรม ทั้งบริษัทใหญ่ และ SME นอกจากนี้ในส่วนกลาง เรายังมีสถาบันต่างๆ ให้บริการช่วยเหลือผู้ประกอบการเฉพาะด้านด้วย
ในส่วนของตนจะดูแลอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ที่ช่วยเหลือสนับสนุนทั้งนโยบายภาครัฐ และแนวทางตลาดของเอกชน ทำงานบูรณาการงานจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการสภาอุตสาหกรรมฯ ที่ผ่านมาเราได้ทำงานช่วยเหลือพัฒนาผู้ประกอบการภาคเกษตรพัฒนาสู่การเกษตรนักธุรกิจเกษตรยกระดับการเกษตรให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรใช้แนวทางการตลาดนำการผลิตเชื่อมโยงความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร ให้กับการเพาะปลูกของเกษตรกร รวมทั้งการส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศ และการส่งออกให้แก่ผู้ประกอบการ
สำหรับ การดำเนินงานโครงการยุวชนสร้างชาตินี้มุ่งเน้นการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อประโยชน์แก่พื้นที่นี้ เป็นแนวคิดที่เยี่ยมมาก และสามารถทำให้เห็นผลได้จริงต่อยอดให้ยั่งยืนได้ ทางสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็พร้อมและยินดีที่จะสนับสนุนให้เกินการพัฒนายกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ เราจึงได้เสนอ การพัฒนายกระดับเกษตรพื้นบ้าน สู่เกษตรปลอดสาร มาตรฐาน GAP ในพื้นที่บ้านห้วยสำราญนี้ เพื่อพัฒนาสร้างรายได้ และแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมี สร้างความรู้ สร้างโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปลดล๊อคการตลาดที่ผูกขาด เชื่อมจากฟาร์มไปสู่ผู้บริโภค เรายินดีและพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานครั้งนี้ ร่วมสร้างความเข้มแข็ง สร้างความเติบโต พัฒนาสู่ความยั่งยืน