(21 กุมภาพันธ์ 2563) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี : บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จับมือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือการสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม 4.0 โดยมี นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนาม
การลงนามความร่วมมือการสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ในครั้งนี้ ปตท.สผ. และ สวทช. จะดำเนินกิจกรรมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกัน ทั้งด้านองค์ความรู้ การพัฒนาด้านบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจและช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศต่อไปในอนาคต
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. หน่วยงานวิจัยและพัฒนา ในฐานะที่เป็นผู้บริหารโครงการ EECi ได้ดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ โดยมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก สำหรับความร่วมมือกับ ปตท.สผ. ในครั้งนี้ เป็นการประสานประโยชน์ร่วมกันในการเป็นพันธมิตรร่วมทางที่ดี ซึ่ง สวทช. ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และมุ่งเน้นถึงประโยชน์ของ EECi ที่จะเกิดขึ้นกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมยุค 4.0 การพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติ และการยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ในสาขาต่าง ๆ ของทั้งสองฝ่ายและภาคส่วนอื่น ๆ ของประเทศ รวมถึงสนับสนุนข้อมูลและองค์ความรู้ ตลอดจนบุคลากรและทรัพยากรที่เหมาะสม เพื่อวางแผนขับเคลื่อนและการพัฒนา EECi พัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศใน EECi และดำเนินกิจกรรมวิจัยและนวัตกรรมร่วมกัน รวมถึงให้บริการที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ EECi
ทั้งนี้ การก่อสร้าง EECi เป็นไปตามแผนและมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่และอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี ซึ่งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี ถือได้ว่าเป็นแห่งแรกในอาเซียนซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีด้านชีวภาพของไทยให้ก้าวมาเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ ยกระดับให้ประเทศไทยเป็นฮับไบโอเบสของอาเซียน และจะขยายไปตั้งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรีในต่างประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีนโยบายในการสร้างบุคลากรในสาขาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคต เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.สผ.ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี และการร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนในการผสานประโยชน์และสร้างคุณค่าร่วมกัน เพื่อเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนดังวิสัยทัศน์ Energy Partner of Choice ของบริษัท ซึ่ง สวทช. ถือเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญ ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่จะยกระดับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยมีนวัตกรรมของตัวเองซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล
นอกจากการลงนามความร่วมมือครั้งนี้แล้ว ปตท.สผ. ยังเป็นเอกชนรายแรกที่จะจัดตั้งศูนย์วิจัยขึ้นในพื้นที่ EECi อย่างเป็นทางการ ในชื่อศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. (PTTEP Technology and Innovation Centre: PTIC) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการพัฒนานวัตกรรมสำหรับธุรกิจใหม่ของบริษัท ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ (Robotics) โดยคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2564
เกี่ยวกับความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท.
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับมอบหมายจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโครงการ EECi และร่วมกับกลุ่ม ปตท. ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เพื่อเป็นที่ตั้งของ EECi เพื่อการรองรับการเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของประเทศไทยในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งจะเปิดให้บริการกับภาคอุตสาหกรรมได้ในปี 2564 ทั้งนี้ สวทช. จะเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม และกลุ่ม ปตท. จะเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป สาธารณูปโภค และความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City)