สถานการณ์ความรุนแรงในสังคมไทยในมิติ ต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาของสังคมไทย ต้องมีการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสม อันจะนำไปสู่แนวทางในการสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงแนวทางการลดความรุนแรงในสังคมไทย รวมถึงแนวทางการป้องกันและขัดเกลาเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานในการขจัดความรุนแรงในมิติต่าง ๆ ในสังคมไทย รวมทั้งแนวทางในการป้องกันและช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงในสังคมไทย เพื่อให้สังคมไทยไร้ความรุนแรงอย่างแท้จริง
วช. ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จึงได้สนับสนุนโครงการท้าท้ายไทย ประเด็น สังคมไทยไร้ความรุนแรง ที่ครอบคลุมความรุนแรง 3 ระดับ ดังนี้
- ความรุนแรงต่อตนเอง (Self-directed Violence)
- ความรุนแรงระหว่างบุคคล (Interpersonal Violence)
- ความรุนแรงระหว่างกลุ่ม (Collective Violence) อีกทั้งได้ตั้งโจทย์การวิจัยในประเด็นเครื่องมือในการป้องกันและแก้ไขความรุนแรง เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันที่ประสบกับปัญหาความรุนแรงในสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตของคนในสังคม
จึงนับเป็นปัญหาที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ที่งานวิจัยต้องตอบโจทย์และตั้งเป้าหมายของผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาของประเทศอันนำไปสู่ผลกระทบในการลดความรุนแรงในสังคมไทยให้ได้ในปี ค.ศ.2030 ตามเป้าหมายที่ 16 ของการพัฒนาแบบยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ในการสร้างสังคมสงบสุขโดยขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบ
การจัดเวทีวิชาการครั้งนี้ วช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปสู่แนวทางในการปฏิบัติได้อย่างแท้จริง เกิดการบูรณาการนำผลงานวิจัยไปสู่แนวทางปฏิบัติเพื่อลดความรุนแรงในสังคมไทยให้เป็นรูปธรรม ซึ่งการนำเสนอผลงานวิจัยครั้งนี้ เป็นการทบทวนการอภิปราย รวมถึงการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะจากตัวแทนจากภาคปฏิบัติที่มีความเกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชน มาร่วมรับฟังและให้ความคิดเห็นต่อยอดจากงานวิจัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานวิจัยที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อการขยายผลสำเร็จพื้นที่ไร้ความรุนแรงจากพื้นที่หนึ่งไปสู่พื้นที่อื่น ๆ และร่วมกันสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรงอย่างยั่งยืนต่อไป