ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี – ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และศูนย์บริการจัดการเทคโนโลยี (TMC) พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร และคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทยและหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย จัดกิจกรรม “การประกวดนวัตกรรมเครื่องสำอาง (COSMENOVATION) : กิจกรรมการจับคู่ที่ปรึกษาวิจัยและผู้ประกอบการ”
ภายใต้โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอางสู่ตลาดต่างประเทศ ปี 2563 (Cosmetic Innovation and Business Link 2020) เพื่อคัด 8 ผู้ประกอบการธุรกิจเวชสำอาง/เครื่องสำอางไทย พร้อมส่งนักวิจัยเป็นพี่เลี้ยง หวังปั้นเป็นนวัตกรที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมสารสกัด/สารออกฤทธิ์จากธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติด้านการชะลอวัย (Anti-aging) สร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่น ผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมไทยสู่ตลาดโลก พร้อมโอกาสร่วมงาน Cosmetic 360; The International Innovation Fair for Cosmetic and Perfume Industry ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือทีเซลส์ กล่าวว่าโครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอางสู่ตลาดต่างประเทศ ปี 2563 (Cosmetic Innovation and Business Link 2020, CIB2020) โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และศูนย์บริการจัดการเทคโนโลยี (TMC), มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยนเรศวร, คลัสเตอร์เครื่องสำอางไทยและหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย มองว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเวชสำอาง/เครื่องสำอาง เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ที่สร้างรายได้อย่างสูงให้กับประเทศไทย ประกอบกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดย CIB2020 เป็นหนึ่งในภารกิจหลักที่เราร่วมกันสร้างอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในไทย ให้เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์เครื่องสำอางของโลก (Global Cosmetic Cluster) ผ่านการทำงานร่วมกับ Cosmetic Valley ฝรั่งเศส โดยผู้ประกอบการไทยที่มีสารสกัดเด่น มีผลการวิจัยพื้นฐานรองรับ และมีความพร้อมด้านการผลิตและการตลาด จะได้รับการคัดเลือกและสนับสนุนให้เติบโตผ่านการวิจัยต่อยอด การบ่มเพาะและการจับคู่ธุรกิจในงานนวัตกรรมเครื่องสำอาง COSMETIC360 ํ ณ ประเทศฝรั่งเศส ผู้ประกอบการที่มุ่งมั่นพัฒนาสารสกัดให้มีคุณภาพ ความปลอดภัยและประสิทธิผลของไทยต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ
ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการคัดเลือกผู้ประกอบการธุรกิจเวชสำอาง/เครื่องสำอางไทยที่มีศักยภาพที่มีการนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรม มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนา นวัตกรรมสารสกัด/สารออกฤทธิ์จากธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติด้านการชะลอวัย (Anti-aging) เพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมทักษะต่าง ๆ โดยเฉพาะการตรวจวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของสารสกัด/สารออกฤทธิ์ ในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีความตื่นตัวในการใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในการแก้ปัญหาและยกระดับผลิตภัณฑ์ที่มีให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ด้วยเป็นเครื่องมือที่ทำให้สามารถตอบและอธิบายทั้งในเรื่องสรรพคุณ (function claim) ของสารสกัด/สารออกฤทธิ์และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ได้อย่างน่าเชื่อถือ
จากความสำคัญดังกล่าว ทำให้โครงการประกวดนวัตกรรมเครื่องสำอาง (COSMENOVATION) เกิดขึ้นเพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมายที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการประกวดนวัตกรรมเครื่องสำอางให้มีโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพทางด้านการแข่งขันด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและการตลาดในระดับโลกมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันได้เร่งผลักดันผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งนี้ 8 ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกในโครงการ ได้แก่ บริษัท ภูเก็ต เป๋าฮื้อ ฟาร์ม จำกัด, บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน จำกัด, บริษัท โคลน ควอลิตี้ จำกัด, บริษัท ไอเดียทูเอ็กซ์เพิร์ท จำกัด, บริษัท บิ๊ค เคมิคอล จำกัด, บริษัท เดวิด เอนเตอร์ไพรส์ แอนด์ ดีวีลอปเมนท์ จำกัด, บริษัท ไฮกู๊ดส์ โปรดักท์ จำกัด และบริษัท ศูนย์วิทยาศาสตร์ เบทาโกร จำกัด ซึ่งจะจับคู่กับที่ปรึกษาวิจัย ที่เป็นนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตอบความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละบริษัท โดยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของที่ปรึกษาวิจัยจากเครือข่ายพันธมิตร อาทิ นาโนเทค สวทช., คณะเภสัชศาสตร์จากทั้ง ม.มหิดล และ ม.นเรศวร ซึ่งมุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ ด้วยวิธีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ทั้งนี้ ในส่วนทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. มีความสนใจในการศึกษากลไกเชิงลึกในระดับเซลล์ในด้านการชะลอวัย รวมถึงความปลอดภัย ล้วนจะสร้างความมั่นใจให้กับสารสกัด/สารออกฤทธิ์ที่ผู้ประกอบการมีความสนใจในการขยายตลาดสู่สากล และเมื่อจับคู่ผู้ประกอบการกับที่ปรึกษาวิจัยแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายจะดำเนินการร่วมกันในการวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์, การวิเคราะห์ ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัย, การเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับการให้ได้มาซึ่งข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการต่อในด้านต่าง ๆ เช่น การเจรจาธุรกิจ การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ การนำแสดงผลงาน/ผลิตภัณฑ์ในงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ รวมถึงการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เป็นต้น รวมถึงเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเสริมทักษะต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Cosmetic 360 ํ; The International Innovation Fair for Cosmetic and Perfume Industry ณ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 15 ตุลาคม 2563
“จากการดำเนินการในช่วงปีที่ผ่านมา เราสามารถพาผู้ประกอบการไปเรียนรู้แนวโน้ม/ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมและตลาดโลก เป็นต้น รวมถึงการเยี่ยมชมและศึกษาดูงานด้านการวิจัย พัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ณ บริษัทเครื่องสำอางชั้นนำของฝรั่งเศส อาทิ Sedema, BIO-EC Laboratory, L’Occitane และ Artemisia museum ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับทั้งผู้ประกอบการและนวัตกรรมของไทย ในการสร้างการรับรู้ในตลาดโลกผ่านโครงการนี้ ซึ่งหวังว่า ในปี 2563 นี้ จะสร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมในโครงการนี้อีกเช่นกัน” ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย กล่าวทิ้งท้าย