กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) มีคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล
(13 มีนาคม 2563) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้ประชุมร่วมกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งทั่วประเทศ ซักซ้อมและยืนยันความพร้อมของ อว. รองรับสถานการณ์การระบาด COVID-19 ในสถานการณ์ในแต่ละระดับ โดยมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อสนับสนุนการทำงานของ สธ. นอกจากนั้นยังได้มีการจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมของเวชภัณฑ์ และมาตรการด้านกำลังคนทางการแพทย์ เช่น การเตรียมโรงพยาบาล หอผู้ป่วยหนัก จัดเตรียมประมาณการบริหารจัดการการเวชภัณฑ์ และการให้บุคลากรทางการแพทย์งดการเดินทางไปยังพื้นที่ระบาดทั้งในและต่างประเทศเพื่อป้องกันการถูกกักตัว 14 วัน เป็นต้น
ในส่วนของความร่วมมือและการประสานงานระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข นั้น อว. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางการวิจัยและวิชาการ (RKEOC) โดยมอบให้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยดำเนินการหลัก และประสานงานในทุกส่วนของกระทรวงฯ ให้มีกลไกการจัดการความรู้ ประมวลความรู้ที่ถูกต้อง รวดเร็ว เข้าใจง่าย และเชื่อมเข้ากับกลไกของกระทรวงสาธารณสุขและของประเทศ โดย RKEOC ได้จัดทำข้อมูลต่างเพื่อเผยแพร่สถานการณ์ และองค์ความรู้กับประชาชน ทั้งในรูปแบบของ เอกสารเผยแพร่ Infographic และคลิปวิดีโอ เช่น คลิปวิดีโอ “COVID-19 แพร่กระจายได้อย่างไร และคุณจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร ?” ร่วมกับองค์การอนามัยโลก
นอกจากนั้น วช. เป็นแกนกลางร่วมกับกรมควบคุมโรคในศูนย์ประสานงาน Coordinated Research Unit เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานความร่วมมือด้านการวิจัย รวบรวมข้อมูลด้านการวิจัย โดยมีที่ตั้งของศูนย์อยู่ที่กรมควบคุมโรค วช. ได้เตรียมงบประมาณสนับสนุนการวิจัยเร่งด่วนไว้แล้ว 250 ล้านบาท โดยในขณะนี้ได้ให้ทุนวิจัยไปแล้ว 10 โครงการในประเด็นการศึกษาเชื้อและลักษณะพันธุกรรมของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อเข้าใจการแพร่กระจายของเชื้อ และวิธีการวินิจฉัยและชุดตรวจเพื่อวินิจฉัยที่รวดเร็วแม่นยำ รวดเร็ว และการพัฒนายาและวัคซีน