ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ข้อมูลการวิจัยที่พบยืนยันว่าคนที่แพร่เชื้อได้แบบไม่รู้ตัวนั้นมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน
โดยผู้ที่แพร่เชื้อได้นั้น มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่ถูกยืนยันและถูกนับรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อแล้ว เป็นตัวเลขที่เราเห็นรายงานประจำวันในแต่ละประเทศ (ศัพท์แพทย์ใช้คำว่า documented case) และอีกกลุ่มคือ กลุ่มคนที่แพร่เชื้อได้แบบไม่รู้ตัว (undocumented case) ซึ่งอาจจะเป็น ผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมากจนไม่รู้ว่าตัวเองป่วย หรือผู้ป่วยในระยะแรกก่อนที่มีอาการ (โดยทั่วไปนับประมาณ 12 ชั่วโมงก่อนที่จะมีอาการ) หรือผู้ที่ป่วยแต่ไม่มาพบแพทย์
ผลการวิจัยดังกล่าวที่เพิ่งรายงานในวารสาร Science โดยคำนวณข้อมูลของประเทศจีนในช่วงแรกของการระบาด (ก่อนที่จะมีมาตรการที่เข้มงวด) และในช่วงหลังของการระบาด (ซึ่งมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้น ประชาชนร่วมมือและป้องกันตนเองมากขึ้นแล้ว) พบว่า
- ในช่วงแรกของการระบาดในจีน มีผู้ที่สามารถจะแพร่เชื้อได้โดยไม่รู้ตัว 6.2 เท่าของตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รายงาน
- ในช่วงหลังของการระบาดในจีน ที่มาตรการและระบบการดูแลดีขึ้น มีผู้ที่สามารถจะแพร่เชื้อได้โดยไม่รู้ตัว 0.5 เท่าของตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รายงาน
กลุ่มคนที่แพร่เชื้อได้โดยไม่รู้ตัวนี้ ถึงแม้ว่าความสามารถในการแพร่เชื้อจะต่ำกว่าผู้ที่ป่วยแบบมีอาการ(มีปริมาณเชื้อมักจะน้อยกว่า) แต่เป็นแหล่งแพร่เชื้อกลุ่มใหญ่ ป้องกันได้ยาก เพราะสามารถแพร่เชื้อได้โดยตัวเองก็ไม่รู้ตัว คนอื่นก็ไม่รู้ว่าเป็นใครบ้าง เลยไม่ทราบว่าจะป้องกันอย่างไร
ข้อมูลรายงานในวารสาร Science วิเคราะห์และประมวลข้อมูล โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ