สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ชี้แจงสื่อกีฬายืนยันปฎิบัติตามขั้นตอนการตรวจสอบสารกระตุ้นก่อนส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันในระดับนานาชาติ และใช้สิทธิ์ขอความเป็นธรรมด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่ออณุญาโตตุลาการทางการกีฬา
จากการที่มีสื่อกีฬาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งผลจากการเผยแพร่ข่าวสารที่ได้ส่งไปนั้นมีผลกระทบไปยังสโมสรสมาชิกของสมาคมฯนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังฝึกซ้อมด้วยความตั้งใจและเสียสละเพื่อประเทศชาติอยู่ในขณะนี้ สมาคมฯจึงใคร่ขอชี้แจงในประเด็นที่ถูกต้องดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 กรณีการถูกตรวจพบสารต้องห้ามนักกีฬาไทยนั้นสมาคมมิได้ละเลยต่อการป้องกันในการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬาแต่การตรวจพบที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการตรวจพบด้วยวิธีพิเศษ ( IRSM ) ทั้งๆที่ก่อนหน้าเดินทางไปแข่งขันกีฬานั้นนักกีฬาทั้งหมดถูกตรวจสารต้องห้ามโดยการกีฬาแห่งประเทศไทยร่วมกับ NADO และไม่พบสารต้องห้าม นักกีฬาจึงสามารถเดินทางไปแข่งขันในรายการดังกล่าวได้และเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นสมาคมฯก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใดได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและพบว่าเกิดจากการใช้เจลทาที่นักกีฬาใช้ทาเพื่อคลายกล้ามเนื้อและรักษาการบาดเจ็บที่เกิดจากการฝึกซ้อมซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและมิได้เจตนา และในประเทศไทยก็ไม่เคยเกิดกรณีเช่นนี้มาก่อนเลยว่าเจลทาแก้ปวดจะสามารถสะสมและเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังซึ่งสามารถตรวจพบได้โดยวิธีพิเศษเนื่องจากก่อนหน้านี้สมาคมฯ ได้ตรวจสารต้องห้ามจากทั้งทาง WADA และ NADO รวมถึงทางสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติแต่ไม่พบ
อย่างไรก็ตามสมาคมฯ มิได้ปฏิเสธความผิดหรือความรับผิดชอบต่อกรณีนี้แต่อย่างใดกับการตรวจสารต้องห้าม โดยองค์กรที่เกี่ยวข้องควรออกมาช่วยเหลือและแสดงความรับผิดชอบร่วมหรือไม่ในความผิดพลาดต่อการตรวจดังกล่าว
ในปัจจุบันสมาคมฯได้ต่อสู้โดยลำพังซึ่งการถูกกล่าวหาโดยการใช้ถ้อยคำรุนแรงนั้นส่งผลต่อจิตใจของนักกีฬาที่กำลังฝึกซ้อมอยู่เพื่อรอเข้าร่วมการแข่งขันในอนาคต สมาคมฯจึงใคร่ขอให้ท่านคำนึงถึงข้อเท็จจริงนี้เป็นสิ่งสำคัญด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน ประเด็นที่ 2 กรณีคณะกรรมการอิสระของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยประธานสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาตินั้นได้ประกาศลงโทษเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯให้สิ้นสุดสภาพการเป็นสมาชิกสหพันธ์ 3 ปีและให้นักกีฬาในระดับยุวชนเข้าร่วมการแข่งขันได้ภายหลังการแข่งขันรายการแรกของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ 5 เดือนสำหรับระดับเยาวชนและประชาชนสามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ภายหลังการแข่งขันรายการแรกของสหพันธ์ 11 เดือน
ในประเด็นนี้มีนัยยะซ่อนเร้นทางการเมืองภายในของสหพันธ์ ซึ่งจะเห็นได้จาก Unilateral Undertaking by TAWA with IWF ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ประเด็นที่ 3 ที่สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติได้มีความพยายามให้สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ลงนาม ณ การประชุมกรรมการบริหารสหพันธ์ฯเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาปัจจุบันประธานสหพันธ์ถูกสอบสวนเรื่องคอรัปชั่นและความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ส่งผลให้ถูกพักการปฏิบัติหน้าที่ ในขณะที่พลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย มีตำแหน่งเป็นรองประธานคนที่ 1 ของสหพันธ์ฯ เป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในสหพันธ์ฯ ซึ่งการลงโทษโดยระงับสภาพสมาชิกของไทยนั้นจะเป็นเหตุให้ประเทศไทยไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลในการเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารของสหพันธ์รวมถึงกรรมการฝ่ายต่างๆในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ตลอดจนไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งและไม่มีสิทธิ์ในการเสนอชื่อผู้ตัดสินเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันนานาชาติ ต่างๆอีกด้วย
ที่ผ่านมานั้นการลงโทษของสหพันธ์ฯต่อกรณีการตรวจพบสารต้องห้ามในนักกีฬามีบทลงโทษไม่เกิน 1 ปีเช่นประเทศจีนและประเทศรัสเซียซึ่งถูกตรวจพบในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์บทลงโทษในครั้งนี้ยังครอบคลุมไปถึงนักกีฬาไทยคนอื่นๆที่ไม่ได้ถูกตรวจพบสารต้องห้าม ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์และมิได้กระทำความผิดโดยประวิงเวลาการเข้าร่วมการแข่งขันนานไปถึง 5 เดือนและ 11 เดือนตามลำดับโดยไม่ยุติธรรมต่อนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยสมาคมฯได้เตรียมการยื่นอุทธรณ์ต่ออนุญาโตตุลาการทางการกีฬาเพื่อขอความเป็นธรรมและดำเนินการร้องต่อกรรมการบริหารสหพันธ์ฯ พิจารณาถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระดังกล่าวนี้อีกด้วย สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเท็จจริงนี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจในสถานการณ์ของสมาคมฯและนักกีฬายกน้ำหนักของประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้นและคงจะได้รับการสนับสนุนเป็นกำลังใจในการต่อสู้เพื่อสิทธิของนักกีฬาไทยจากท่าน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนด้วยดีต่อไป สมาคมฯพร้อมที่จะให้ความกระจ่างหากท่านมีข้อสงสัยเพิ่มเติมจึงใคร่ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้