กรมส่งเสริมการเกษตรเผยผลสำเร็จแปลงใหญ่จิ้งหรีด สร้างรายได้ให้เกษตรกรต่อเนื่องทั้งปี แตกไลน์สินค้าแปรรูปได้หลายชนิดพบกระแสตอบรับดียอดส่งออกเติบโตไม่หยุดดันต่อยอดจำหน่ายออนไลน์
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การทำการเกษตรต้องเผชิญกับอุปสรรคและข้อจำกัดหลายประการเช่น การเกิดแมลงศัตรูพืชระบาด โรคระบาดในสัตว์หรือปริมาณของสัตว์น้ำตามธรรมชาติลดลง ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหารจากปัญหาประชากรที่กำลังเพิ่มขึ้น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงแนะนำให้แมลงเป็นอาหารโปรตีนสำรองในอนาคต หรือที่เรียกว่า Novel Food เนื่องจากมีราคาถูก เพาะเลี้ยงง่าย ลดการใช้ทรัพยากร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแมลงจึงกลายเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่กำลังจะเข้ามาทดแทนเนื้อสัตว์
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การรับประทานแมลงนับเป็นวัฒนธรรมการบริโภคอาหารและภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมานานของคนไทย โดยข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร พบว่า ประเทศไทยมีแมลงที่มีคุณค่าอาหารอย่างน้อย 194 ชนิด เช่น จิ้งหรีด จิ้งโกร่ง ตั๊กแตน หนอน และดักแด้ไหม ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นตลาดหลักในการส่งออกแมลงไปขายทั่วโลก เพราะนอกจากมีแมลงกินได้หลายชนิดแล้ว ยังมีสภาพอากาศร้อนชื้นเหมาะสำหรับการเพาะเลี้ยงแมลงด้วย
กรมส่งเสริมการเกษตรตระหนักดีถึงข้อได้เปรียบดังกล่าว จึงเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ผู้เลี้ยงแมลง โดยเฉพาะจิ้งหรีด ปัจจุบันมีแปลงใหญ่จิ้งหรีดทั้งหมดจำนวน 11 แปลง เกษตรกรสมาชิก469 ราย พื้นที่รวมประมาณ 848.5 ไร่ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บุรีรัมย์ พิจิตร พิษณุโลก มหาสารคาม ลพบุรี สระแก้ว และจังหวัดสุโขทัย โดยมีกำลังการผลิตรวมกว่า 1.1 พันตันต่อปี ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดบางกลุ่มได้พัฒนาต่อยอดจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน มีการพัฒนาคุณภาพผลผลิตจนได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) การปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP)มาตรฐานการผลิตอาหาร (HACCP)มาตรฐานฟาร์มเครื่องหมาย อย. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
ข้อมูลวิจัยของกองโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า คุณค่าทางโภชนาการของแมลงกินได้ในขนาดน้ำหนัก 100 กรัม จะมีปริมาณโปรตีนเทียบเท่าเนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาทูนึ่ง และไข่ไก่ในขนาดน้ำหนักเท่ากันดังนั้นแมลงจึงสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งอาหารได้ในพื้นที่ที่ขาดแคลนอาหารจำพวกโปรตีน ทั้งยังเป็นโปรตีนที่ปลอดภัย เพราะไม่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ และปลอดสารพิษต่างๆ ใช้อาหารและพื้นที่เลี้ยงน้อยกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์ทั่วไป และยังปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยกว่าการเลี้ยงวัวถึง 80 เท่าอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาให้ได้สายพันธุ์จิ้งหรีดที่แข็งแรงร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ รวมทั้งยังพัฒนาวิธีการเก็บรักษาให้สามารถเก็บได้นานขึ้นด้วยกระบวนการอบแห้งหรือแช่แข็งและยังมีการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์อีกหลายชนิด เช่น จิ้งหรีดอบกรอบ ทอดกรอบ โปรตีนจิ้งหรีด ผงจิ้งหรีด ข้าวเกรียบจิ้งหรีด น้ำพริกจิ้งหรีด จิ้งหรีดปรุงรส รวมทั้งสินค้าที่เป็นผลพลอยได้จากการเลี้ยงอย่างปุ๋ยมูลจิ้งหรีด และด้วยการยึดหลักการรวมกลุ่มกันบริหารจัดการ ทำให้กลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดมีผลผลิตหมุนเวียนสามารถจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี
ในส่วนด้านการตลาดนอกจากจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหน้าฟาร์มแล้ว กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ยังส่งขายตลาดในท้องถิ่น ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ ขายผ่านช่องทางออนไลน์ และส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และฝรั่งเศสอีกด้วย
สำหรับท่านที่สนใจสินค้าแปรรูปจากจิ้งหรีด หรือสินค้าเกษตรอื่นๆขอเชิญเลือกซื้อและพูดคุยกับเกษตรกรผู้ผลิตได้โดยตรงผ่านทาง www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com แหล่งรวบรวมสินค้าด้านการเกษตรเกรดพรีเมียม คัดสรรจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ส่งตรงจากเกษตรกรถึงบ้านคุณ “เกษตรกรจริง ๆ ทุกสิ่งปลอดภัย เพียงคุณสั่ง เราพร้อมส่ง”