สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) นำเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการในโครงการบ่มเพาะธุรกิจ นำร่องที่ แอปพลิเคชัน QueQ (คิวคิว) เข้าไปเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ช่วยบริหารจัดการความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์หลังคลายล็อกดาวน์
รวมถึงความหนาแน่นของการจอดเรือในท่าเทียบเรือของอ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง เพื่อยกระดับคุณภาพของการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าว ตอบโจทย์ “ไร่เลย์ โมเดล” ที่มุ่งจัดระเบียบและแผนพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ พร้อมเดินหน้าทำงานร่วมกับจังหวัดกระบี่ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมใช้จาก สวทช. และพันธมิตร ส่งต่อเพื่อใช้งานจริงในพื้นที่ ช่วยแก้ปัญหาภาคธุรกิจท่องเที่ยวกระบี่ และเป็นจังหวัดต้นแบบท่องเที่ยวตามวิถีใหม่
นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สวทช. กล่าวถึงการสนับสนุนไร่เลย์โมเดล ของ สวทช. ว่า ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) เป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. ที่สนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่เริ่มต้นกิจการจนในที่สุดสามารถดำเนินกิจการของตนได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยบริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการนวัตกรรมภายใต้โครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (Incubation) ของ สวทช. และได้รับทุน Startup Voucher หรือทุนสนับสนุนในโครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ของ สวทช.
บทบาทหนึ่งที่สำคัญของศูนย์ BIC คือ การสนับสนุนการจับคู่นวัตกรรม (Innovation Matching) ระหว่างเจ้าของนวัตกรรม กับ ผู้ใช้งานจริง ดังเช่นชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง ไร่เลย์ โมเดล กับ บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน QueQ ด้วยการนำนวัตกรรมแอปพลิเคชันดังกล่าว ไปใช้งานจริงกับการจัดการความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์หลังคลายล็อกดาวน์ รวมถึงความหนาแน่นของการจอดเรือในท่าเทียบเรือของหาดไร่เลย์ด้วย ซึ่งนับเป็นการนำเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการในโครงการของศูนย์ BIC สวทช. เข้าไปเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่
นายสมบูรณ์ หง้าฝา ประธานชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง ไร่เลย์ โมเดล เปิดเผยว่า ชมรมผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง จังหวัดกระบี่ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม และการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวไร่เลย์ มีหน้าที่รับผิดชอบและกำกับดูแลด้านการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความสะอาดโดยรวมของพื้นที่ รวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในบริเวณพื้นที่อ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางธรรมชาติและอนุรักษ์เพื่อความยั่งยืน
เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นมาก จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเกาะเป็นจำนวนมาก เกิดความคับคั่งและก่อให้เกิดมลภาวะด้านต่าง ๆ มากมาย ดังนั้น เพื่อรักษาสภาพนิเวศและอนุรักษ์ธรรมชาติให้ยั่งยืน รวมถึงยกระดับคุณภาพของการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณฝั่งทิศตะวันตก และหาดพระนาง ซึ่งเป็นหาดที่สวยที่สุดติดอันดับโลก ฉะนั้น ผู้ประกอบการในชุมชน และชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์ฯ จึงมีความคิดเห็นรวมกันว่า ควรจัดระเบียบพื้นที่ใหม่ ภายใต้โครงการ “ไร่เลย์ โมเดล” ซึ่งเป็นโครงการเพื่อจัดระเบียบและแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง
โดยนำปัญหาด้านการท่องเที่ยวด้านต่าง ๆ ที่พบ ได้แก่ ปัญหาการเข้าออกของเรือบริเวณหน้าหาดอ่าวไร่เลย์ฝั่งทิศตะวันตก และหาดพระนาง ปัญหาความไม่ปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเนื่องจากมีเรือเข้าออกตลอดเวลาทั้งวัน ส่งผลให้การพักผ่อน และการทำกิจกรรมทางน้ำ การว่ายน้ำ ดำน้ำ พายเรือคายัคของนักท่องเที่ยวไม่มีความปลอดภัย มีความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้ทั้งสองหาด ปัญหาขยะที่มากับเรือนักท่องเที่ยว มีเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน และปัญหาการใช้พื้นที่ชายหาดเกินความจำเป็น ในยามวิกาลมีเรือนักท่องเที่ยวเข้ามาทำกิจกรรมส่งเสียงดัง โดยไม่เคารพพื้นที่ เพื่อแก้ไขปรับปรุงและวางแนวทางการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสืบไป
“โครงการไร่เลย์โมเดล จะเป็นตัวอย่างการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติของประเทศไทย โดยมีแผนการดำเนินโครงการไร่เลย์โมเดล ได้แก่ การจัดระเบียบเรือเพื่อยกระดับคุณภาพของการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวไร่เลย์ ทั้ง 3 หาด หาดอ่าวไร่เลย์ทิศตะวันตก หาดอ่าวไร่เลย์ทิศตะวันออก และหาดพระนาง การจัดการลดปัญหาการนำขยะบนชายฝั่งมาทิ้งพื้นที่อ่าวไร่เลย์ ห้ามนำขยะหรือขวดน้ำเข้ามาในพื้นที่ การจัดการยกระดับความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว เช่น ติดตั้งระบบ CCTV ในเขตพื้นเส้นทางสัญจรสาธารณะ การจัดการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติควบคู่ไปด้วย
โดยตั้งเป้าที่การฟื้นฟูธรรมชาติ และท้ายสุดคือการปลูกฝังจิตสำนึกต่อธรรมชาติของนักท่องเที่ยวและเยาวชนรุ่นต่อไป” ประธานชมรมฯ ไร่เลย์ โมเดล กล่าว ด้าน นายรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ CEO บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด และผู้ประกอบการนวัตกรรมในโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี และ Startup Voucher ของ สวทช. เปิดเผยว่า แอปพลิเคชัน QueQ คือ แอปที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อจองคิวร้านอาหาร ที่ไม่ต้องรอ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการจัดการด้านอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย
ตั้งแต่สถานที่ท่องเที่ยว การสั่งอาหารกลับบ้านหรือการนั่งทานที่ร้าน การนัดหมายล่วงหน้าในร้านตัดผม ร้านเสริมสวย สปา หรือคลินิก การทำจุดรับของ (Drive Thru) ของซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาดสด เป็นต้น โดยในส่วนของสถานที่ท่องเที่ยว แอป QueQ ได้นำมาใช้กับการจองล่วงหน้าเพื่อเข้าอุทยานแห่งชาติ โดยใช้จริงแล้วกับทุกอุทยานฯ ที่เปิดให้บริการจำนวน 127 แห่ง จากทั้งหมด 155 แห่ง และในส่วนของอ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง จ.กระบี่ แอป QueQ ได้นำมาปรับใช้กับการจัดการเรื่องความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวของหาดไร่เลย์
ตรวจสอบคิวก่อนการเข้าเกาะ ด้วยระบบการจองคิวเข้าสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อบริหารจัดการการท่องเที่ยวตามแนวทาง Carrying Capacity โดยนักท่องเที่ยวสามารถจองใช้บริการการท่องเที่ยวล่วงหน้า ผ่านแอป QueQ เพื่อให้ง่ายต่อการให้บริการของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการจอง และการลงทะเบียนเข้า-ออกแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงแอป QueQ ยังสามารถนำมาใช้กับการบริหารจัดการความหนาแน่นของการจอดเรือบริเวณท่าเทียบเรือของหาดไร่เลย์ได้ด้วย สอดคล้องกับไร่เลย์โมเดล ที่มีแผนการดำเนินการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติของประเทศไทย
โดยแอป QueQ สามารถที่จะกำหนดจำนวนการให้บริการต่อช่วงเวลาได้ จองผ่านโมบายแอปหรือเว็บก็ได้ตามโควตาของแต่ละช่วงเวลา รวมถึงยังมีบริการจ่ายผ่านแอปด้วยช่องทางที่หลากหลาย สร้างรายงานการใช้บริการอัตโนมัติ รองรับผู้ใช้งานแบบไม่จำกัดจำนวน พร้อมมีทีมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง และใช้เวลาขึ้นระบบเพียง 1 วันเท่านั้น