อว.ผนึกกำลัง 2 สถาบัน ยกระดับ OTOP หวังสร้างมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ขานรับไทยแลนด์ 4.0 ผนึกกำลัง 2 หน่วยงานใหญ่ สถาบันอาหาร และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส่ง “โครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (IGNITE PLUS)” ยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ในสาขาสิ่งทอและอาหาร ด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเบื้องต้น 500 กิจการ ยกระดับผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 125 ผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 หวังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ผนึกกำลังสถาบันอาหาร และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดโอกาสการเรียนรู้และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม โดยการดำเนิน “โครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (IGNITE PLUS)” มิติใหม่ของวงการอุตสาหกรรมไทย เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เหมาะสมผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับการตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนไทย สู่ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น ที่สะท้อนความเป็นไทย มีกลิ่นอายชุมชน มีเอกลักษณ์ มีเรื่องราว ในปี 2562 เน้นกลุ่มผู้ประกอบการทั่วประเทศที่มีแนวคิดในการสร้างสินค้าชุมชนไทยให้มีมูลค่า ความแตกต่าง และสู่สากล ซึ่งเป็นหนึ่งแรงที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนไทยอย่างยั่งยืน

ดร.อัจฉรา  วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ดร.อัจฉรา  วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเปิดเผยว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มีนโยบายหลักในการเตรียมความพร้อมคนไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 และปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมไทยไปสู่ฐานนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์เรื่องไทยแลนด์ 4.0 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ภายใต้ โมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” นั้น จะต้องเริ่มจากสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ ชุมชน และเครือข่ายในทุกภาคส่วนของประเทศ  ด้วยนวัตกรรมที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ซึ่งหากประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนไปได้จริง จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และลดการพึ่งพาต่างชาติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ เป็นการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ซึ่งจากข้อมูลของกรมการพัฒนาชุมชนผลิตภัณฑ์ชุมชนสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 190,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่านอกจากตลาดในประเทศแล้ว ผลิตภัณฑ์ OTOP ยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมากด้วย”

นอกจากนั้น ดร.อัจฉรา  วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกล่าวเสริมว่า “โครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (IGNITE PLUS)  เป็นโครงการต่อยอดความสำเร็จจากปี  2560 โดยในปีนี้มุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการ 3 กลุ่ม ได้แก่ผู้ประกอบการจากโครงการ OTOP IGNITE ในปี 2560 ผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมโครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอป และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีฐานการผลิต ให้สามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการพัฒนาธุรกิจ ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด

โดยมีกรอบแนวทางในการพัฒนา ทั้ง 4 มิติ อันได้แก่ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (New entrepreneurs) นวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation & Technology) อัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ (Product identity) และ ช่องทางการตลาด (Marketing channels) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของโครงการฯ  โดยแบ่งกลุ่มการต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีนวัตกรรม ดังนี้ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบกลุ่มที่ 1 (80%) จะใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหา ทำผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและน่าสนใจ และสร้างช่องทางการตลาดเพื่อทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น ผลิตภัณฑ์ต้นแบบกลุ่มที่ 2 (20%) สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่มีนวัตกรรม ให้มีนวัตกรรมและการออกแบบ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคได้

ดร. ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ดร. ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า “สถาบันฯ เป็นอีกหน่วยงานที่มุ่งสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการผลิต สามารถพัฒนาสินค้าสนองต่อความต้องการของตลาดระดับบน (High-end Market) มุ่งเน้นการสร้างความแตกต่าง โดยในโครงการ IGNITE PLUS มีแนวทางในการพัฒนาสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย และของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึกในรูปแบบ 4’s” ดังนี้

  • Smart Materials  เน้นถึงวัสดุธรรมชาติผสมผสานกับวัสดุสังเคราะห์ เพื่อประโยชน์ทางด้านการใช้งาน เช่น ความนุ่มสบาย ระบายอากาศได้ดี
  • Smart Functional Textiles การพัฒนาสิ่งทอให้มีคุณสมบัติพิเศษ หรือ Functional Textile เช่น สมบัติการสะท้อนน้ำ สมบัติการต้านเชื้อแบคทีเรีย สมบัติป้องกันแสงอัลตราไวโอเลต สมบัติป้องกันการยับ และสมบัติการหน่วงการติดไฟ เป็นต้น
  • Smart Textiles  สิ่งทออัจฉริยะ คือสิ่งทอที่พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เกิดมูลค่าแก่ผู้สวมใส่ เช่น ผ้าที่เปล่งแสงได้ไปจนถึงผ้าที่เปลี่ยนสีได้ (Phase Change Materials) ผ้าที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ลดแรงต้านลม และควบคุมการสั่นสะเทือนของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางกีฬาของผู้สวมใส่
  • Smart Eco Textile นวัตกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การนำวัสดุที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ (Recycling and use of waste as raw materials) การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-design) เป็นต้น
นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร  รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร

นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร  รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า “สถาบันอาหารเข้ามาช่วยยกระดับผู้ประกอบการ  กำหนดแนวทางการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยมุ่งเน้น 4 แนวทาง ได้แก่ (1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพตามทิศทางของตลาดที่กำลังเติบโตต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ  (2) พัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษของเหลือในกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่ม (3) พัฒนาต่อยอดสินค้าเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย  (4) พัฒนาสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ให้เป็นสินค้าแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น  รวมถึงการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น  เพื่อให้สามารถคงอยู่และเผยแพร่ออกไปในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิต OTOP ซึ่งมีจุดอ่อนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถปรับตัวได้ทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดอาหารที่มีรอบระยะเวลาเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นกว่าอดีต ตอบโจทย์ตลาดปัจจุบันและอนาคตระยะใกล้ เป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ”

นอกจากนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาของผู้ประกอบการ OTOP ที่ขาดบุคลากรที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ภายในกิจการ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานในกระบวนการผลิตได้เอง ไม่สามารถนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อต่อยอดกิจการ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่จึงวนเวียนอยู่ที่เดิม เป็นการลองผิดลองถูก และมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางการตลาด ทั้งที่กิจการมีพื้นฐานที่ดีในการผลิต รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกับชุมชนด้านแรงงานและวัตถุดิบ

ด้วยเหตุนี้ IGNITE Plus ปี 2562 จึงได้มุ่งแก้ปัญหาพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ คือการยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้นานขึ้นและยังคงคุณภาพและรสชาติที่ดี ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมทั้งด้านการเก็บรักษาคุณภาพสินค้าและดึงดูดผู้บริโภค เพื่อให้สามารถกระจายสินค้าไปได้ทั่วประเทศหรือส่งออกได้ เน้นการแปรรูปผลิตผลการเกษตรให้เป็นสินค้าใหม่ๆ การสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น การสร้างความแตกต่าง ขณะเดียวกันเมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาแล้ว จะมีการนำไปทดสอบตลาดเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเพื่อนำกลับมาปรับปรุงอีกครั้ง ก่อนออกวางจำหน่ายจริง และจัดเจรจาธุรกิจเพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่าย โดยรายที่มีศักยภาพสูงจะได้รับคัดเลือกไปออกแสดงสินค้า และเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อในต่างประเทศอีกด้วย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสถาบันอาหารมั่นใจว่าโครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (IGNITE PLUS) จะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนไทย สู่ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น ให้มีมูลค่า ความแตกต่าง และสู่สากล ซึ่งเป็นหนึ่งแรงที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนไทยอย่างยั่งยืน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *