นครปฐมโมเดล เมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก

สมัชชาสุขภาพนครปฐม จับมือ Node Flagship สสส.และภาคีเครือข่าย ชูนครปฐมโมเดล ร่วมสร้างเมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก เข้าถึงอาหารที่ดีมีโภชนาการ พร้อมปลุกพลังการอ่านผ่านหนังสือ “ปลูกผักสนุกจัง”

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 ที่ศาลาเอนกประสงค์วัดบางภาษี อ.บางเลน จ.นครปฐม สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม ร่วมกับ Node Flagship สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นครปฐม และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “นครปฐมโมเดล ปลูกผักสนุกจัง สานพลังการอ่าน…สู่เมืองๅอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก”

เพื่อขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัย พร้อมร่วมประกาศเจตนารมณ์ให้เด็กทุกคน สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัย ไร้สารพิษ รวมถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเพียงพอเหมาะสมทั้งในภาวะปกติและภาวะพิบัติภัยต่างๆ            

ผศ.ดร.นพ.คงเดช ลีโทชวลิต  ประธานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า อาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต การเข้าถึงอาหารเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี นับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน

ดังนั้นการได้รับความมั่นคงทางอาหาร หรืออาหารที่ปลอดภัย ไร้สารเคมีและสารพิษ จึงเป็นหลักประกันที่นำไปสู่การมีดุลยภาพในทุกมิติ ซึ่งไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมอันดับต้นๆของโลก มีผลผลิตทางการเกษตรที่ส่งออกเป็นจำนวนมาก ยังประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและเพียงพอต่อความต้องการ ในกลุ่มของเด็กและกลุ่มผู้เปราะบาง

เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคอุบัติใหม่ เด็กกลุ่มนี้ยิ่งต้องเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งความหิวโหย และความปลอดภัยของอาหาร จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันผลักดัน ให้น้องๆเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเพียงพอและเหมาะสม ทั้งในภาวะปกติและภาวะพิบัติภัยต่าง ๆ  
     

“นครปฐมเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์รายล้อมไปด้วยพืชผักผลไม้นานาชนิด ดังนั้นเพื่อให้เกิดระบบการผลิตที่เกื้อหนุน รักษาสมดุลของระบบนิเวศน์และความคงอยู่ของฐานทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติ

เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม จึง ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและทุกภาคส่วน ร่วมกันขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก เพื่อให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ” ผศ.ดร.นพ.คงเดช กล่าว
       

รศ.ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ  ผู้จัดการ Node Flagship สสส.นครปฐม และกรรมการผู้จัดการมูลนิธิปันสุข กล่าวว่า แม้ไทยมีการปรับตัวที่ดีเพื่อเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เป็นลำดับต้นๆของโลก แต่ปัญหาการกระจายอาหารให้ทั่วถึงเพียงพอ ทั้งด้านความปลอดภัยของอาหาร  คุณค่าทางโภชนาการอย่างสมวัย และการผลิตที่เกื้อกูลต่อระบบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นปัญหาใหญ่

ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลในจังหวัดนครปฐม พบว่ามีประชากรทั้งสิ้น 911,492 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กแรกเกิดถึงปฐมวัย (0-5 ปี) ร้อยละ 6.1 และเป็นเด็กวัยเรียนตามการศึกษาภาคบังคับ (6-15 ปี) ร้อยละ11.3 ปัญหาสำคัญของเด็กทั้งสองกลุ่มคือ โภชนาการสมวัย โดยเด็กกลุ่มแรกมีภาวะทุพโภชนาการ ผอมและเตี้ย ส่วนกลุ่มหลัง คือ โรคอ้วนและเริ่มอ้วน ซึ่งมีถึงร้อยละ16 สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม ร่วมมือกับหลายภาคส่วน รวมถึง Node Flagship สสส.จังหวัดนครปฐม รณรงค์ขับเคลื่อนผ่านโรงเรียนต่าง ๆ หลายสังกัด เพื่อให้เด็กได้รับอาหารปลอดภัยครบ 3 มื้อ โดยสนับสนุนให้โรงเรียนปลุกผักกินเอง รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ปกครองปลูกผักและรับซื้อผักปลอดสารพิษจากเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย
     

“สิ่งนี้จะเกิดเป็นโมเดลการจัดการอาหารตามบริบทของพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ที่ชี้ชัดว่า ความมั่นคงทางอาหารทำได้จริงในระดับชุมชน  มาถึงวันนี้ สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม มูลนิธิปันสุข  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนโดยการสนับสนุนของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.  มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งขาติ (สช.) ตระหนักว่า เด็กปฐมวัยและเด็กวัยเรียน ควรเป็นประชากรกลุ่มแรกที่ชุมชนจะต้องใส่ใจ ฟูมฟักให้พวกเขาได้รับโภชนาการสมวัยที่ปลอดภัยและเพียงพอ

เราจึงร่วมกันปลุกพลังพลเมือง ขับเคลื่อนการออกแบบชุมชนให้นครปฐมเป็นโมเดลเมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก โดยอาศัยเครื่องมือสำคัญ อาทิ สาธิตการทดลอง การผลิตหนังสือ ปลูกผักสนุกจังเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ได้เห็นตอนปลุกพลังจากการอ่าน  และเข้ามาสร้างและออกแบบแผนงานร่วมกัน” รศ.ดร.เกศินี กล่าว

ด้าน นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มูลนิธิชีววิถี ไทยแพน และเครือข่ายขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็กนครปฐม ที่ลุกขึ้นสร้างปรากฏการณ์รูปธรรมในครั้งนี้ ขอบคุณ สสส. ที่สนับสนุนให้หนังสือและการอ่านเป็นจุดคานงัดสำคัญในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะมาอย่างต่อเนื่อง

หากเราสามารถปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาวะและวางรากฐานกระบวนการอ่านการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต เขาจะเติบโตเป็นพลเมืองสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสังคมแห่งอนาคต เด็กหนึ่งคนจึงต้องใช้คนทั้งชุมชน ทั้งหมู่บ้าน ทั้งเมืองร่วมกันดูแล ช่วยกันหยุดทำร้ายเด็กในวันนี้ ต้องหยุดใช้สารเคมี  

สำหรับพ่อแม่ ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูอนุบาล และผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือนิทานภาพ “ปลูกผัก สนุกจัง” ได้ทาง www.happyreading.in.th หน่วยงานในจังหวัดนครปฐมที่สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก ติดต่อรับหนังสือได้ที่ เพจมูลนิธิปันสุข นครปฐม 

นางธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กประถมวัย กล่าวว่า ทุกภาคส่วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ อยากเห็นเด็กได้รับอาหารที่ปลอดภัย อาหารถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของเด็ก หากเด็กได้รับสารอาหารที่ดีมีโภชนาการตั้งแต่วัยเยาว์ จะช่วยเสริมพัฒนาการทั้งทางร่างกายและสมอง กลายเป็นเด็กที่เติบโตอย่างมีคุณภาพและสมวัย

ทั้งนี้วัฒนธรรมในครอบครัวก็มีส่วนสำคัญ เช่น การสร้างกิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษร่วมกันและนำผลผลิตที่ได้ไปประกอบอาหารรับทานในครอบครัว เป็นการปลูกฝังให้เด็กเห็นคุณค่าของการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ที่สำคัญการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวจะกลายเป็นทักษะของชีวิตที่ดีของเด็กด้วย

“โครงการนี้ใช้เด็กเป็นตัวตั้งในการทำงาน เปรียบเหมือนเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านเด็กเข้าด้วยกัน การทำงานด้านเด็กถ้าคนในพื้นที่เข้มแข็ง จะเป็นตัวอย่างให้ฝ่ายนโยบายเห็นว่านโยบายที่ผลักดันมีความน่าเชื่อถือสามารถเกิดขึ้นจริง นำไปสู่กลไกในการสนับสนุนด้านงบประมาณ ส่งผลให้การทำงานเกิดความยั่งยืนในอนาคต” นางธิดา กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *