ไปเพชรบุรีต้องไม่พลาดขนมหวานและขนมหม้อแกง เมืองเก่าที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “อยุธยาที่มีชีวิต” ยังมีเสน่ห์อีกหลายด้านที่นักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่ได้สัมผัส งานวิจัยที่สนับสนุนโดย วช.จะชูให้เอกลักษณ์ความเป็นเมืองเก่าที่มาแต่ยุคทวาราวดีโดดเด่นยิ่งขึ้นและนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนถนนสายวัฒนธรรมบรรทัดฐานใหม่
เสน่ห์ของ จ.เพชรบุรีจะโดดเด่นขึ้นด้วย “โครงการการพัฒนาชุมชนต้นแบบด้วยการท่องเที่ยว
เชิงสร้างสรรค์และยั่งยืนเพื่อยกระดับจังหวัดเพชรบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยโครงการดังกล่าวมี รศ.ดร.ประสพชัย พสุนนท์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหัวหน้าโครงการ
รศ.ดร.ประสพชัยเล่าถึงเสน่ห์ของ จ.เพชรบุรีว่า เป็นเมืองที่ใกล้กับกรุงเทพฯ ราว 160 กิโลเมตร
ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมงกว่า ๆ มีความโดดเด่นในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ เพชรบุรีเป็น “เมือง 3 วัง”
เพราะประกอบด้วย เขาวัง หรือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี ซึ่งเป็นพระราชวังในหลวงรัชกาลที่ 4,วังบ้านปืน หรือ พระรามราชนิเวศน์ พระราชวังในหลวงรัชกาลที่ 5 และพระราชนิเวศน์มฤคทายวันที่ประทับแปรพระราชฐานในหลวงรัชกาลที่ 6
“เพชรบุรียังเป็น “เมือง 3 ธรรม” มีธรรมชาติทั้งทะเล ภูเขา มีวัฒนธรรมและผู้คนมี “ธรรม” ประจำใจ มีอาหาร 3 รส ได้แก่ เค็ม หวาน เปรี้ยว โดยเค็มจากดอกเกลือบ้านแหลม หวานจากน้ำตาลโตนด และเปรี้ยวจากมะนาวแป้น อีกทั้งยังเป็น “เมือง 3 ทะเล” ได้แก่ ทะเล ทะเลโคลน และทะเลหมอกที่ อ.พะเนินทุ่ง” รศ.ดร.ประสพชัยกล่าวถึงเสน่ห์ของเมืองเพชรบุรี ซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืน
รศ.ดร.ประสพชัยกล่าวว่า จ.เพชรบุรีมีขนมหวานที่มีเอกลักษณ์ แม้แต่ก๋วยเตี๋ยวก็ยังมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครเพราะกินคู่กับซอสพริกและบางเจ้าใช้น้ำตาลโตนดด้วย และยังเป็นเมืองที่มีความเก่าแก่ ได้ชื่อว่า “เป็นอยุธยาที่มีชีวิต” เพราะมีวัฒนธรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่ยุคทวารวดี เนื่องจากบ้านเมืองไม่ถูกทำลาย วัฒนธรรมจึงสืบทอดต่อมา ทั้งเรื่องอาหาร ศิลปะ ประเพณี และการใช้ชีวิต เช่น วัดกำแพงแลงหรือวัดเทพปราสาทศิลาแลงก็เป็นศิลปะขอม พิธีโล้ชิงช้าวัดเพชรพลี รวมถึงการเป็นแหล่งพานิชยกรรมที่สำคัญ ซึ่งพบหลักฐานในแม่น้ำเพชรบุรี เช่น คันฉ่องจากเมืองจีนในยุคราชวงค์ถัง
เสน่ห์ของ จ.เพชรบุรีมีทั้งการท่องเที่ยว วัฒนธรรม อาหาร รวมถึงวิถีชีวิต ซึ่ง รศ.ดร.ประสพชัยระบุว่า ทางจังหวัดเพชรบุรีต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารหรือช่างสิบหมู่ เพื่อชูเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด โดยทั้งสองอย่างล้วนโดดเด่น แต่พิจารณาแล้วอาหารสามารถประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนได้มากกว่า ขณะที่ทักษะด้านช่างสิบหมู่ก็ช่วยเสริมเอกลักษณ์ทางด้านอาหารได้ เช่น การออกแบบปูนปั้นเพื่อเป็นภาชนะอาหาร หรือใช้การแกะสลักหยวกกล้วยเพื่อประดับตกแต่งอาหาร
นอกจากนี้ทีมนักวิจัยในโครงการยังช่วยกันพัฒนาการท่องเที่ยวตามบรรทัดฐานใหม่ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับความสะดวกและปลอดภัย โดยนักท่องเที่ยวจะได้เห็นจุดเช็คอินในชุมชนเมืองเก่ามากขึ้น และมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์ให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในรูป รส สัมผัส เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเป็นครอบครัวจะได้ทำอาหารร่วมกัน หรือร่วมกันปั้นเซรามิก หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ และจะสร้างจุดถ่ายรูปจุดใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอยใน จ.เพชรบุรี
“เพชรบุรีติดอันดับ 1 ใน 5 จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวกระจุกตัวที่ อ.ชะอำ จึงมีแนวคิดว่าจะทำให้เกิดการกระจายการท่องเที่ยวสู่พื้นที่อื่นๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรามีคติพจน์ที่ล้อมาจากสภาพัฒน์ว่า “ต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบัน สร้างคุณค่าสู่อนาคต” รศ.ดร.ประสพชัยกล่าว
โครงการที่ได้รับทุนจาก วช. นี้ยังมีเป้าหมายที่จะสร้างอาชีพใหม่ หรืออาชีพเสริมให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่บ้านและพร้อมต้อนรับผู้คน ซึ่งคนกลุ่มนี้สามารถเป็นนักเล่าเรื่อง นักสื่อความหมาย หรือนำเที่ยวได้ เพราะสามารถอธิบายถึงวิถีชีวิต อาหาร ร้านอาหาร วิถีการกินที่มีอยู่ในชุมชนเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่วิถีดั้งเดิมของชุมชน
โดยส่วนตัว รศ.ดร.ประสพชัยมีความคาดหวังว่า โครงการการพัฒนาชุมชนต้นแบบด้วยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืนฯ นี้จะช่วยให้จังหวัดเพชรบุรี สามารถยื่นใบสมัครเพื่อเป็นเมืองสร้างสรรค์ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ อีกทั้งเพิ่มสถานที่ท่องเที่ยวแก่ชุมชน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตคนในชุมชน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ขายได้และมีความเชื่อมโยงกับโรงแรมหรือแหล่งที่พักต่างๆ ได้ โดยตอบโจทย์นักท่องเที่ยวว่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ