สสส. ตอกย้ำนโยบายส่งเสริมสุขภาพ 20 ปี ผนึกภาคีต่อยอดงานวิจัยเพลงพื้นบ้านผนวกรำไทย
ส่งวิดีทัศน์ “จังหวะไทย จังหวะหัวใจ” สอนพื้นฐานการเต้น ชวนคนไทยขยับเสริมสุขภาพดี ห่างไกลโรค ในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ วิถีชีวิตสุขภาวะ อยู่ที่ไหนก็ขยับได้ พร้อมแจกฟรีวิดีทัศน์สอนเต้นเพียงกรอกแบบฟอร์มผ่าน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่าในปี 2564 ครบรอบ 20 ปีของสสส.ในการดำเนินงานด้านการรณรงค์สร้างเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี ห่างไกลโรคผ่านกิจกรรมต่างๆ การสร้างนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านนโยบาย สิ่งแวดล้อม สร้างความเข้มแข็งของชุมชน จนสามารถผลักดันปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมคนไทยให้หันมาสนใจการมีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้เกิดนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ. 2561 – 2573) ขึ้นในระดับชาติ และล่าสุดสสส.ได้รับรางวัล Nelson Mandela Award for Health Promotion ในการเป็นองค์กรส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งมอบเป็นครั้งที่ 2 ของโลกจากองค์การอนามัยโลก
ทั้งนี้ในปี 2564 สสส. แนะนำประชาชนเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายด้วยวิดีทัศน์ชุดความรู้จังหวะไทย จังหวะหัวใจ ซึ่งเป็นวิดีทัศน์สอนการมีกิจกรรมทางกายด้วยเพลงไทยประกอบท่าเต้น ซึ่งสนุกสนานและได้สุขภาพดี
“สสส.เห็นถึงคุณค่าความเป็นไทย “จังหวะไทย จังหวะหัวใจ” มีทั้งทำนองเนื้อร้อง และท่าเต้นที่ง่าย ที่ทำให้คนรู้สึกสนุกที่จะออกมาเต้นเพื่อสุขภาพดี โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่หลายคนยัง Work From Home” ดร.สุปรีดา กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รักษาการผู้อำนวยการ สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า วิดีทัศน์สอนเต้นจังหวะไทย จังหวะหัวใจ ถูกออกแบบมาจากวิถีชีวิตคนไทยทุกกลุ่ม ภายใต้งานวิจัยด้านสุขภาพของภาคีเครือข่ายสสส. เพื่อชวนคนทุกเพศทุกวัยให้ออกมาเต้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพ เป็นการเพิ่มทางเลือกของการมีกิจกรรมทางกาย เพราะเป็นการผสานแนวคิดทั้งวิทยาศาสตร์การกีฬาและศิลปะ ด้วยการออกแบบเพลงให้มีจังหวะความเร็วที่เหมาะสม ใช้เสียงกระตุ้นให้ผู้ฟังรู้สึกอยากขยับร่างกายไปตามจังหวะเพลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเต้นตามวิดีทัศน์จนจบเท่ากับการมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) บทเพลง “จังหวะไทย จังหวะหัวใจ” ได้รับการประพันธ์ขึ้นมาใหม่โดยผสมผสานทำนองเพลงไทยโบราณ เต้ยโขง ที่หลายคนคุ้นเคย กับทำนองเพลงสมัยใหม่ รวมทั้งแต่งเนื้อร้อง การออกแบบท่าเต้น และถ่ายทอดเป็นวิดีทัศน์โดยผู้กำกับภาพยนตร์และโฆษณาชื่อดัง ทำให้คนไม่เคยเต้นสามารถเต้นตามได้
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า พฤติกรรมการขาดการออกกำลังกาย และการเนือยนิ่งโดยเฉพาะช่วงที่ต้องทำงานที่บ้าน ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก เพราะเป็นสาเหตุหลักของอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจ การเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูง มะเร็งเฉพาะจุด เบาหวานประเภท 2 สุขภาพจิต (อาการวิตกกังวลและหดหู่ที่ลดลง) สุขภาพและการนอนหลับ ดังนั้นการเต้นตามวิดีทัศน์จังหวะไทย จังหวะหัวใจ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง ซึ่งควรทำเป็นประจำอย่างน้อย 150 – 300 นาทีต่อสัปดาห์ตามข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลกเพื่อให้ผลดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมทั้งยังมีความสนุกกับจังหวะเพลง โดยผู้ที่ต้องการวิดีทัศน์ หรือเพลงไปเต้น โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงกรอกแบบฟอร์มขอรับได้ที่ https://forms.gle/M4f6SMNDt64oNhB28 หรือรับชมได้ที่
ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต ในสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า งานวิจัยการศึกษากิจกรรมทางกายในบริบทไทย รำไทยและโขน ของภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งพัฒนาร่วมกับ สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. พบว่า มีส่วนช่วยในการพัฒนาด้านสมอง โดยส่งผลให้เกิดการทำงานสอดประสานกันในหลายส่วน ทั้งการมองเห็น การลำดับท่าทางการเคลื่อนไหว รวมไปถึงการฟังจับจังหวะให้สอดคล้องกับการออกท่าทางรำซึ่งเป็นการฝึกฝนให้สมองหลายๆ ส่วนทำงานพร้อมกัน
การพัฒนาด้านความจำ เกิดการจดจำลำดับท่าทางการรำ เพื่อนำมาใช้ประกอบการเคลื่อนไหวจะช่วยฝึกฝนการทำงานของสมองได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดการดึงข้อมูลและลำดับการเอามาใช้อย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับจังหวะและเพลงที่ได้ยิน และการพัฒนาการด้านอารมณ์ ขณะมีการเคลื่อนไหวสมองจะถูกกระตุ้นให้เกิดการทำงานมากขึ้น และไปลดผลของสมองส่วนที่เรียกว่า อะมิเดล่า (Amygdala) ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมด้านอารมณ์เป็นหลัก ส่งผลผู้รำสามารถลดอารมณ์ด้านลบได้ ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรค NCDs และป้องกันโรค Office Syndrome เพราะการเคลื่อนไหวในแต่ละท่วงท่าของ รำไทย โขน และ มวยไทย ช่วยให้เกิดการขยับกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและเสริมสร้างความแข็งแรง ดังนั้นการนำผลวิจัยดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นเพลงไทยและท่าเต้นไทย “จังหวะไทย จังหวะหัวใจ” พบว่าเสียงเพลงไทยช่วยสร้างความสนุกสนานในการทำกิจกรรม อีกทั้งเป็นการช่วยกำกับการเคลื่อนไหวท่วงท่าในการรำและเต้น ทำให้เกิดการฝึกความจำในการจำท่ารำประกอบไปกับเสียงเพลง รวมถึงทำให้เกิดการผ่อนคลายจากความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงานในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย ดังนั้นอยากสุขภาพดีพิมพ์ค้นหา “จังหวะไทย จังหวะหัวใจ”
สำหรับผู้ที่ต้องการวิดีทัศน์ หรือ เพลง “จังหวะไทย จังหวะหัวใจ” โดยไม่มีค่าใช้จ่าย กรุณากรอกแบบฟอร์มเพื่อขอรับได้ที่ https://forms.gle/M4f6SMNDt64oNhB28 หรือรับชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=CwgnFsErhY8&t=21s n