GPSC กวาดกำไร Q1/64 พุ่ง 25% (YoY)สะท้อนการดำเนินงานและดีมานด์ไฟฟ้า-ไอน้ำภาคอุตฯ ที่แข็งแกร่ง

GPSC เผยผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2564 กำไรโตต่อเนื่อง 1,973 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากไตรมาสที่ 1 ปี 2563 (YoY) และเพิ่มขึ้น 35% จากไตรมาสที่ 4 ปี 2563 (QoQ) สะท้อนการดำเนินงานและความต้องการใช้ไฟฟ้า-ไอน้ำภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง พร้อมนำมาตรการคุมเข้มหน่วยผลิตป้องกันโควิด-19 ระลอกใหม่ สร้างเสถียรภาพและความมั่นใจในระบบผลิตไฟฟ้า-ไอน้ำให้กับลูกค้า

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/2564 กำไรสุทธิของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 มีจำนวน 1,973 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 393 ล้านบาท หรือร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2563 (YoY)

โดยมีสาเหตุหลักจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี และเงินปันผลรับจากบริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด แม้ว่าผลจากการดำเนินงานในส่วนของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) ลดลงจากการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้า IPP ทำให้รายได้ค่าความพร้อมจ่ายลดลง แต่กลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) มี margin สูงขึ้นจากการปรับตัวลดลงของราคาก๊าซธรรมชาติและราคาถ่านหิน รวมถึงความต้องการใช้ไอน้ำที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าอุตสาหกรรม

สำหรับผลการดำเนินงานของไตรมาส 1/2564 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 ที่ผ่านมา (QoQ) เพิ่มขึ้น 515 ล้านบาท หรือร้อยละ 35 โดยมีสาเหตุหลักจากค่าบำรุงรักษาลดลง เนื่องจากในไตรมาส 4 ที่ผ่านมามีการซ่อมบำรุงตามแผนของโรงไฟฟ้า SPP ของโกลว์ และกำไรขั้นต้นจากการขายไอน้ำให้ลูกค้าอุตสาหกรรมสูงขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทฯ รับรู้มูลค่า Synergy จากการควบรวมกิจการสุทธิหลังภาษีจำนวน 224 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ซึ่งส่วนหลักได้รับจากการบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงรักษา การใช้โครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน และการบริหารจัดการเถ้าถ่านหิน (Coal ash)

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) โดยได้ขายหุ้น GRP ในสัดส่วนร้อยละ 50 ให้กับ บริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเม้นท์ จำกัด (PTTGM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯ รับรู้รายได้จากการขายหุ้นดังกล่าว และส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้ผลประกอบการจาก GRP เป็นส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมภายหลังการดำเนินการขายหุ้นแล้วเสร็จ

การร่วมทุนดังกล่าว เป็นอีกก้าวของการยกระดับความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนของกลุ่มบริษัทฯ ในอนาคต นับเป็นการรวบรวมบุคลากรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียนจากทั้ง ปตท. และ GPSC มาดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ รวมไปถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่การพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนร่วมกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญในการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยมีมาตรการคุมเข้ม ได้แก่ ห้ามบุคคลภายนอกเข้าพื้นที่สำนักงานและพื้นที่ปฏิบัติการ พร้อมออกระเบียบให้พนักงานสายงานสนับสนุน ปฏิบัติงานที่บ้าน (Work From Home) 100% การเตรียมแผนบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจสำหรับสายปฏิบัติการ

และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดในหน่วยผลิตให้สามารถเดินหน้าผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของลูกค้าในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับแสวงหาพันธมิตรในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานใหม่ๆ เพื่อรองรับกับเทรนด์การพัฒนาพลังงานแห่งอนาคต โดยเฉพาะการต่อยอดเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่ม ปตท. ในการบริหารจัดการพลังงานแบบครบวงจร

ข้อมูลเกี่ยวกับ GPSC

GPSC ถือหุ้นโดย บมจ.ปตท. (PTT) ในสัดส่วน 44.45%* บมจ.ไทยออยล์ (TOP) 20.78% บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC) 10.00% และนักลงทุนทั่วไป 24.77% (*PTT อยู่ระหว่างกระบวนการซื้อหุ้น GPSC จาก GC รวมจำนวน 12.73% ซึ่งภายหลังการทำธุรกรรมจะทำให้ PTT และ SMH (บริษัทย่อยของ PTT) ถือหุ้น GPSC จำนวน 42.54% และ 1.91% ตามลำดับ โดยคาดว่าธุรกรรมการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 ปี 2564)

GPSC แกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. ดำเนินธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าอุตสาหกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และอื่นๆ โดยปัจจุบัน มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติแล้วตามสัดส่วนการถือหุ้น (Equity MW) รวมประมาณ 5,055 เมกะวัตต์ ไอน้ำรวมประมาณ 2,946 ตันต่อชั่วโมง น้ำเย็นรวมประมาณ 15,400 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 7,372 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *