“Kick Off กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน

“อนุทิน” ขอบคุณ กขป. เสริมความเข้มแข็งงานสุขภาพพื้นที่พร้อมสู้ภาวะวิกฤต หวังกระชับความร่วมมือมากขึ้น ร่วมแก้ปัญหาโควิด – 19 ด้าน “หมอประทีป” ถอดบทเรียนการทำงาน กขป. ชุด 1 ส่งต่อการทำงานชุดใหม่ เน้น สานพลัง หนุนภาคี จัดทำแผนการทำงาน เชื่อมพื้นที่ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน พร้อมย้ำต้องร่วมพัฒนาระบบข้อมูล

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวในการเปิดงาน “Kick Off กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (ชุดที่ 2) ว่า กลไกคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเป็นกลไกการทำงานแบบบูรณาการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาปรึกษาหารือและร่วมกันหาทางออกในเรื่องต่างๆ

โดยยึดหลักการสร้างสังคมสุขภาวะ ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจากการทำงาน 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพต่างๆของแต่ละพื้นที่ เช่น ระบบสุขภาพชุมชน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ตลอดจนสุขภาวะของพระสงฆ์ เป็นต้น

นำมาซึ่งการสร้างความเข้มแข็งในระบบสุขภาพจนนำมารับมือกับวิกฤตการณ์สุขภาพต่างๆได้ ดังปัจจุบันที่ทุกกลุ่มในระบบสุขภาพ เช่น ชุมชนมีความเข้มแข็งสร้างศูนย์พักคอยรับผู้ป่วยโควิด 19 กลับภูมิลำเนา มีการเปิดใช้พื้นที่ของวัดเพื่อไปศูนย์พักคอยแสดงถึงการเชื่อมโยงการทำงานของภาคส่วนต่างๆมาโดยตลอด

นายอนุทิน ได้กล่าวขอบคุณทุกคนที่สละเวลามาร่วมกันแก้ปัญหาสุขภาวะ ลดช่องว่างของการดูแลสุขภาพ ทุกท่านทราบดีว่าเรื่องสุขภาพเป็นผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่มีความเกี่ยวเนื่องต่อกันทั้งหมด

จึงขอให้ผู้แทนหน่วยงาน ส่วนราชการทุกพื้นที่ที่ร่วมมือกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ได้ให้ความร่วมมือกันต่อไป กระชับความร่วมมือกันให้มากยิ่งขึ้น ใช้กลไกของกขป. ดำเนินการให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ทำงานให้ได้มากที่สุดแล้วประสานการทำงานร่วมกับสมัชชาสุขภาพของจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อให้เกิดผลที่ดีต่อการจัดการสุขภาพของประชาชน ในทุกมิติ

และแสดงความเชื่อมั่นว่าการที่ กขป.มาร่วมประชุมกันในครั้งนี้เพราะต่างมีความมุ่งหวังที่จะร่วมกันสร้างพลังความเข้มแข็งระบบสุขภาพพื้นที่อย่างยิ่งยืน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบสุขภาพประเทศ โดยเฉพาะตอนนี้ประเทศไทยมีการระบาดของโรคโควิด -19

ซึ่งจุดแข็งของเขตสุขภาพเพื่อประชาชนถือเป็นฟันเฟืองเสริมพลังในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเต็มความสามารถและในที่สุดทุกคนก็จะทำให้ประเทศไทยกลับมาสู่สภาวะที่ปลอดภัยและมีความเป็นปกติสุขให้กับประชาชนในอนาคตอันใกล้นี้

“แม้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยยังมีความรุนแรงและน่าเป็นห่วง แต่ผมยังมีความหวังอยู่เสมอว่าหากเราทุกคนในฐานะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ร่วมมือและใช้พลังทุกส่วนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานของภาคส่วนต่างๆ เราจะสามารถฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกันอย่างแน่นอน” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากการประเมินผลการทำงาน 4 ปี ของกขป. ชุดที่ 1 โดย ผศ.วีรบูรณ์ วิสารทสกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นการถอดบทเรียน

กำหนดแนวทางการทำงานของกขป.ชุดที่ 2 พบว่า เน้นกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบสุขภาพตามเป้าหมายของเขต และประสานการขับเคลื่อน เป็นภารกิจที่ค่อนข้างกว้าง แบ่งเป็น 4 ด้าน

1.กลไกการดำเนินงานเห็นว่าเป็นโครงสร้างเชิงยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาของเขต แต่ผู้แทนเขต ไม่ได้เป็นเครือข่ายที่มีโครงสร้างโดยตรง ทำให้การกำหนดนโยบาย ประสานการขับเคลื่อนติดขัด

2. ด้านกระบวนการ ซึ่งมีการดำเนินการ 2 รูปแบบ คือถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาที่สำเร็จ และเผยแพร่ต่อ ส่วนที่สอง ตั้งกลไกของเขตเพื่อขับเคลื่อนงานต่อ แต่ยังมีปัญหาการไม่ยึดโยงโครงสร้างกลไกการบริหารของพื้นที่

3.การขับเคลื่อนภารกิจ ประเด็นที่กำหนดไว้ 80-90% สอดคล้องกับปัญหาของพื้นที่

และ 4.ผลลัพธ์การทำงานของแต่ละพื้นที่เบื้องต้นประสบความสำเร็จ แต่ในภาพรวมเขตยังมีคำถามว่าความสำเร็จคืออะไร ประชาชนได้รับประโยชน์อะไร

“ดังนั้นข้อสังเกต จากการประเมิน เห็นว่ามีความท้าทายและมีปัจจัยกำหนดความสำเร็จของ กขป. คือ

1. การเข้าใจบทบาทหน้าที่ของกรรมการกขป.แต่ละคน

2.องค์ประกอบและการมีส่วนร่วมของกขป. โดยเฉพาะหน่วยงานราชการในพื้นที่

3.ช่องว่างการทำงานร่วมกันของทีมเลขา 4 หน่วยงาน คือ สธ., สช. , สปสช. และ สสส.

และส่วนที่ 4 ระบบข้อมูลและการใช้ชุดความรู้เพื่อสนับสนุนการทำงานของกขป.” นพ.ประทีป กล่าว

นพ. ประทีป กล่าวว่า ดังนั้นข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ต่อ กขป. ชุดใหม่ วาระ 4 ปี ตั้งแต่ 2564-2568 มีดังนี้

1. การพัฒนาองค์ประกอบกขป.ชุดใหม่ให้ได้ผู้ที่มีคุณสมบัติและมีศักยภาพ ซึ่งกรรมการชุดใหม่มีส่วนหนึ่งมาจากกขป.ชุดเดิม และมีกรรมการท่านใหม่ที่มีศักยภาพมาเสริม

2.เสริมบทบาทการเป็นพื้นที่ประสานนโยบายและความร่วมมือระดับเขต

3. เสริมแนวทางการทำงานเป็นกลไกการบูรณาการ แทนการเป็นกลไกกำหนดนโยบาย หรือทำหน้าที่ขับเคลื่อนเท่านั้น รวมถึงสนับสนุนการสร้าง ขยายและพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายในพื้นที่

โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชน ที่สำคัญคือการพัฒนาและใช้ระบบข้อมูลร่วม และเน้นการบูรณาการทรัพยากรในเขตพื้นที่ และสื่อสารสาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อบทบาทกขป. และบทบาทการสร้างสุขภาวะให้มากขึ้น

“สรุปบทบาทกขป.ชุดใหม่ กับการขับเคลื่อนสุขภาวะในพื้นที่

1. ระดับเขต มีกขป.เป็นกลไกการสานพลังเป็นหลักและสนับสนุนศักยภาพภาคี

2.ระดับจังหวัดมีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดและอื่นๆ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำนโยบาย แผนงาน ประเด็นสำคัญของจังหวัด และสนับสนุนการขับเคลื่อนงานในพื้นที่

และ 3. ระดับพื้นที่ อำเภอ ตำบล ชุมชน หมู่บ้าน โดยเป็นเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนปฏิบัติการเพื่อให้เกิดสุขภาวะในพื้นที่” เลขาธิการ สช. กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *