“ไรเดอร์” แรงงานกลุ่มใหม่ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองพบอุบัติเหตุบนถนน เจ็บ ตาย พิการสูงขึ้น แต่ขาดสิทธิสวัสดิการ ต้องดูแลตัวเอง
เปิดผลวิจัยไรเดอร์ พบอุบัติเหตุบนถนน เจ็บ ตาย พิการสูงขึ้น แต่ขาดสิทธิสวัสดิการ ต้องดูแลตัวเอง เจ้าของแอปฯ อ้าง เป็นพาร์ทเนอร์แค่ผู้ให้บริการเทคโนโลยี ด้านนักวิชาการชี้ตรรกะผิดพลาด ย้ำวิธีจัดการจัดเป็นนายจ้างชัดเจน รัฐต้องคุ้มครองสิทธิ ส่งเสริมแรงงานรวมตัวเพิ่มอำนาจต่อรอง พร้อมรื้อกฎหมายเก่ายุค2.0 ให้ทันรูปแบบการจ้างงานปัจจุบัน
หนุนเลือกตั้ง66 จังหวะดี เลือกพรรค -นักการเมืองชูนโยบายตอบสนองปัญหาแรงงาน ‘โครงการพัฒนาความรู้และความเข้มแข็งกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อสุขภาวะ’ โดยมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา LDI สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เปิดเวทีรับฟังปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบายของกลุ่มแรงงานนอกระบบ ต่อพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566

ในส่วนของ “ไรเดอร์” แรงงานกลุ่มใหม่ที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง ดร.พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าโครงการศึกษา “งานสวัสดิการไรเดอร์” เปิดเผยว่า ไรเดอร์ หรือพนักงานส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น ถือเป็นแรงงานกลุ่มใหม่ที่น่าสนใจ จึงได้ทำการศึกษาโดยเน้นในเรื่องของการเกิดอุบัติระหว่างการทำงาน
พบว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตสูงขึ้นเป็นที่น่าตกใจ สร้างผลกระทบกับทั้งตัวไรเดอร์ คนในครอบครัว และผู้ใช้รถใช้ถนคนอื่นๆ แต่ปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวไรเดอร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการทำงานแพลตฟอร์ม ซึ่งจะมีกลยุทธ์อยู่ 3 อย่างคือ
1.อ้างว่าตัวเองเป็นเพียงผู้ให้บริการเทคโนโลยี ที่ไรเดอร์ดาวน์โหลดมาใช้เอง และยอมรับเงื่อนไขการให้บริการเอง โดยเรียกไรเดอร์ว่าเป็น “ผู้รับจ้างอิสระ” ส่วนผู้ให้บริการแอปฯ ไม่ใช่นายจ้าง ดังนั้นหากเกิดอะไรขึ้นไรเดอร์ต้องรับผิดชอบตัวเอง
2.กำหนดการจ่ายค่าจ้างเป็นรายชิ้น และสามารถปรับลดค่ารอบได้
และ 3. มีระบบระบบวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้ หรือที่ไรเดอร์เรียกว่าอัลกอริทึ่มประกอบกับให้ลูกค้าประเมินความพึงพอใจ หากไรเดอร์ขยัน ระบบจะประประเมินและจ่ายงานให้มากขึ้น ใครไม่ขยันระบบก็ไม่จ่ายงานให้
ทั้งหมดนี้เป็นตัวกระตุ้นให้ไรเดอร์ทำงานทำงานหนักขึ้น ค่ารอบลดลง ก็ต้องวิ่งมากขึ้นเพื่อให้ได้เงินมากขึ้นส่งผลให้เกิดความเครียด อยู่บนถนนวันละกว่า 10 ชั่วโมง พอรีบก็ขับรถเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไรเดอร์ต้องรับผิดชอบ หรือไปใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งล้วนเป็นภาษีของประชาชน
ทั้งนี้ตนไม่ได้บอกว่าไรเดอร์ใช้สิทธิ์ตรงนี้แล้วสิ้นเปลือง เพียงแต่จะบอกว่าเจ้าของแอพฯ กลับไม่ได้จ่ายอะไรเลย เอาแต่ผลประโยชน์ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้ให้บริการแอพฯ นับว่าเป็นนายจ้าง แต่เอาเทคโนโลยีมาซ่อนตัวอยู่ข้างหลังเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบทั้งหมด ดังนั้นเรื่องนี้ผิดที่ผิดทาง จึงต้องทำให้ถูก โดยเสนอให้เรายอมรับว่านี่คือการจ้างงานรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิสวัสดิการ

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่เจ้าของแอปฯ บอกว่าเป็นเพียงผู้สร้างแอปฯ เท่านั้นไม่ใช่นายจ้าง ถือเป็นตรรกะที่แปลกและคลาดเคลื่อน หากให้โหลดใช้ฟรีถึงจะพูดเช่นนั้นได้ แต่นี่มีการกำหนดขั้นตอนในการทำงาน กำหนดค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น และมีสิทธิในการปรับลดค่ารอบได้ ถือว่าเป็นนายจ้าง
รัฐต้องเข้ามาดูแลกำกับดูแล เน้นวิธีที่ทำได้เร็ว เช่นการออกกฎกระทรวง หรือประกาศกระทรวงแรงงาน ส่วนการออกพระราชบัญญัติอาจต้องใช้เวลานานและไม่แน่ว่าจะบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ทั้งนี้หากเทียบในหลายประเทศที่มีแรงงานแพลตฟอร์มขับรถส่งอาหาร เช่น ฝรั่งเศส สเปน เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ มีคำพิพากษาของศาลให้แรงงานเหล่านี้อยู่ในสถานะลูกจ้างของแพลตฟอร์ม
ในประเทศเยอรมันนี นายจ้างต้องรับผิดชอบจัดให้มีอุปกรณ์การทำงานของไรเดอร์ ค่าชุด ค่ารักษาพยาบาล และต่างๆ ขอย้ำว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงานต้องปรับตัวให้เร็ว ทันกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงานในปัจจุบันที่คนหันไปทำอาชีพอิสระมากขึ้นหลากหลายขึ้น หรืออีกแนวทางหนึ่งคือส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานเป็นเจ้าของกิจการเองได้ เช่น ไรเดอร์รวมตัวเป็นหุ้นส่วนสร้างแอปฯ ที่เป็นธรรมขึ้นมา หรือให้แรงงานเป็นกรรมการบริษัทตามสัดส่วนที่กำหนด เป็นต้น
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการรับฟังผลการวิจัยตนขอพูดถึง 3 ประเด็นคือ
1.งานวิจัยสะท้อนถึงเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนสภาวะแรงงานที่เปลี่ยนไป เป็นแรงงานอิสระเพิ่มขึ้น ทุกพื้นที่คือสถานที่ทำงาน มีการควบคุม สั่งการทางอ้อมด้วยค่าตอบแทนแบบทำมากได้มาก แต่กลับบอกว่าสถานะคือพาร์ทเนอร์ ไม่ใช่นายจ้าง แต่ตนมองว่านี่คือนายจ้างที่ลื่นไหล หลบอยู่หลังแอปฯ และทำให้แรงงานกระจัดกระจาย มีความสามารถในการรวมตัวกันได้ยาก และกระจัดกระจายในเชิงความหมายจากการให้นิยามแรงงาน เช่น แรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ แรงงานคืนถิ่น เป็นต้น ทั้งๆ ที่คือแรงงานเหมือนกัน
2. ความเสี่ยงภัยต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต ทั้งระยะสั้น ระยะยาวจากสภาวะการทำงาน แต่กลับมีความไม่มั่นคงสูงมากตนยืนยันว่านี่คือลูกจ้าง ไม่ใช่พาร์ทเนอร์ เพราะขนาดลดค่ารอบเจ้าของแอปฯ ยังสามารถลดได้ฝ่ายเดียว ถือว่ามีนายจ้าง ลูกจ้างชัดเจน
ซึ่งจะนำมาสู่ข้อ 3 คือการเผชิญหน้าแก้ไขไปทีละประเด็น ส่วนตัวมองว่ารัฐควรพัฒนาแพลตฟอร์มมารองรับ หรือหากทำไม่ได้ก็ให้หน่วยงานอื่นดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ไม่กดขี่ไรเดอร์ ขูดรีดร้านค้า ผู้บริโภค ยิ่งในอนาคตจะยิ่งมีการจ้างงานย่อยๆ อีกมาก ลูกจ้างต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทั้งค่าจ้าง ประกันสังคม แรงงานสัมพันธ์ โดยมีนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนตัวคิดว่าช่วงการเลือกตั้งเป็นจังหวะอันดีที่จะเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายตอบสนอง ต่อปัญหาของแรงงาน
นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยมีแรงงานกว่า 39 ล้านคน และอยู่ในระบบประมาณ 10 กว่าล้าน คนที่เหลือเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง และนับวันแรงงานนอกระบบยิ่งมากขึ้น ซึ่งตนคิดว่าเรื่องใหญ่ที่ต้องดำเนินการคือส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มแรงงานโดยไม่แบ่งว่าเป็นแรงงานในระบบหรือนอกระบบ หรือใครทำงานอะไร
ซึ่งทั่วโลกกำลังทำเรื่องนี้ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง เพราะปัจจุบัน ระบบการทำงานที่เปลี่ยนไป ทำให้แยกแรงงานออกจากกัน รวมตัวกันยาก และทำให้ความแตกต่างกันนั้นมีความชอบธรรมขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยมีการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานน้อยมากในโลก เพียง 1.5%

ดังนั้นต้องผลักดันเรื่องนี้ในเชิงนโยบาย ทำให้เกิดความชัดเจน และปรับปรุงกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันที่ออกมาในยุค 2.0 ให้สอดรับกับการจ้างงานปัจจุบัน โดยรื้อทั้งหมด ไม่ใช่แค่การปะผุ รวมถึงพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และพ.ร.บ.แรงงานนอกระบบ เพื่อทำให้แรงงานทุกกลุ่มรวมตัวกัน และได้รับสิทธิเท่าเทียม
ทั้งนี้ในช่วงบ่ายของการประชุม ได้มีการรับฟังปัญหาแรงงานนอกระบบโดยพรรคการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าไรเดอร์ควรจะได้รับความคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการจากความสัมพันธ์ในการจ้างงานระหว่างแพลตฟอร์มกับไรเดอร์