น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงขอโทษประชาชน กรณีเมาแล้วขับ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจาก จากตำแหน่ง ส.ส.พรรคก้าวไกล
เครือข่ายงดเหล้า ชมสปิริต “ณธีภัสร์” ส.ส.ก้าวไกล เมาแล้วขับ ยอมรับผิด ลากออกสร้างบรรทัดฐานการเมือง ชงก้าวไกล แก้ปัญหาเมาแล้วขับ “ปฏิรูปตร. งานจราจร ตั้งด่าน บังคับเป่าจริงจัง ฟันโทษไม่รอลงอาญา
จากกรณี น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลจำเลย ได้แถลงขอโทษประชาชน แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจาก จากตำแหน่ง ส.ส.พรรคก้าวไกล เนื่องจากเมาแล้วขับ วัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายได้ 66 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และยินดีเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายทุกอย่าง
โดยได้รับโทษจำคุก 2 เดือนและปรับ 4,000 บาท ซึ่งโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และให้คุมประพฤติและไปรายงานตัวทุก 4 เดือน ภายในเวลา 1 ปี กับให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร เป็นเวลา 12 ชั่วโมงด้วยรวมทั้งให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถเป็นเวลา 6 เดือน
ล่าสุด วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) กล่าวว่าในเรื่องนี้ต้องขอชื่นชมสปิริตของน.ส.ณธีร์ภัส ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องในทางการเมืองและเป็นแบบอย่างที่ดีที่ไม่พยายามใช้ตำแหน่งเพื่อวิ่งเต้นให้พ้นผิด ต่างจากนักการเมืองหรือข้าราชการประจำที่มีตำแหน่งสูงที่มักใช้เส้นสายในการเป่าคดีตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ แต่ไม่ค่อยได้เห็นนักการเมืองหรือข้าราชการไทยก้มหัวขอโทษประชาชน และลาออกแสดงความรับผิดชอบเช่นนี้
ทั้งนี้จากการกระทำผิดดังกล่าวทำให้น.ส.ณธีร์ภัสได้รับโทษตามกฎหมายเสมอเหมือนกับบุคคลทั่วไปทุกประการ อย่างไรก็ตามการประกาศลาออกถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่สูง และจะเป็นบทเรียนให้นักการเมืองทุกพรรคการเมืองต้องเข้มงวดตัวเอง ไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย การเป็นบุคคลสาธารณะต้องเป็นแบบอย่างและพึงระวังให้มาก
ด้าน นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า จากข้อมูลปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตบนถนนปีละกว่า 17,000 คน คิดเป็น 25.9 ต่อแสนประชากร สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกที่กำหนดที่ 16.7 ต่อแสนประชากร และส่วนมากมีสาเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ
ทั้งนี้ผลสำรวจปี 2564 ในกลุ่มผู้ดื่มแอลกอฮอล์ และเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ พบว่า มีพฤติกรรมดื่มแล้วขับเป็นประจำ 6.5 % ทำเป็นบางครั้ง 43.3 % และ จากรายงานการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในกลุ่มผู้ขับขี่ ในการตั้งด่านปี 2561 – 2564 พบว่า 59 % พบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินที่กฎหมายกำหนด
“ปัญหาความไม่ปลอดภัยบนถนน มีปัจจัยหลักมาจากขาดความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะแก้ปัญหานี้ เพราะงานจราจรกลายเป็นงานรอง ไม่ใช่งานหลักของตำรวจ ไม่มีการสนับสนุนอุปกรณ์ที่เพียงพอ ระบบการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานไม่เชื่อมทำให้ไม่สามารถตรวจพบความผิดซ้ำซาก ไม่นำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา ซึ่งจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะกำหนดนโยบายในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเลย” นายธีระ กล่าว
นายธีระ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เครือข่ายมีข้อเสนอไปยังพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกันก็มีนโยบายสุราก้าวหน้า จึงจำเป็นต้องมีแผนการลดผลกระทบหากมีการเปิดให้ผลิตกันเสรี ดังนี้
1.เร่งปฏิรูปตำรวจ ลดช่องทางในการรับส่วย เป่าคดี และทำให้ตำรวจจราจรทำงานได้อย่างเต็มที่ด้วยการสนับสนุนเครื่องตรวจปริมาณแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ และกำหนดเป้าหมายในการทำงาน ตั้งด่านตรวจเข้มงวด จริงจังโดยเฉพาะใกล้สถานบันเทิง และบริเวณกิจกรรมทางการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อตรวจจับคนดื่มแล้วขับ และผลสำเร็จในการลดอุบัติเหตุ
2.ดำเนินคดีตามขั้นตอน โดยสามารถบังคับตรวจ รวบรวมพยานหลักฐานนำส่งศาลอย่างตรงไปตรงมา ไม่ถูกแทรกแซง ใช้เงินเพื่อให้มีการลดโทษ และขอให้ศาลกำหนดโทษขั้นต่ำโดยไม่มีการรอลงอาญา
3. ผลักดันให้มีศาลจราจร
4. แก้กฎหมายภาษีสรรพสามิต แยกใบอนุญาตจำหน่ายเป็นร้านขายส่ง ขายปลีก และร้านนั่งดื่ม โดยผู้ประกอบการต้องมีใบอนุญาต ต้องไม่ขายแอลกอฮอล์ให้ลูกค้าที่เมาครองสติไม่ได้ และมีส่วนร่วมรับผิดกรณีที่เกิดอุบัติเหตุบนถนนส่งผลกระทบต่อคนอื่น และให้ผู้ประกอบธุรกิจผลิต จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกภาคส่วนร่วมกันจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบที่ธุรกิจแอลกอฮอล์
และ 5. ทบทวน ยุตินโยบายให้ขายสุราได้ 24 ชั่วโมงเพราะจะยิ่งสร้างปัญหา.