ทฤษ ดี 3 ป. จากโรงเรียนทุ่งสง จ. นครศรีธรรมราช คว้ารางวัล “ซูเปอร์กบจูเนียร์”
บทพิสูจน์ “พลังเด็ก” สู่ “พลังงานสะอาด” ถ่ายทอดแนวคิด “การเปลี่ยน” เพื่อชีวิตที่ดีกว่า
“ใครไม่ Change Climate Change”
เดินทางมาถึงโค้งสุดท้าย กับการประกาศรางวัล “ซูเปอร์กบจูเนียร์ ใครไม่ Change Climate Change” ที่ทางกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จัดขึ้นเพื่อสานต่อพันธกิจขยายฐานความรู้ สร้างความเข้าใจในเรื่องพลังงานที่เชื่อมโยงการเปลี่ยนผ่านพลังงานดั้งเดิมสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน (Energy Transition) โดยเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษาตอนต้น ทั่วประเทศ ส่งผลงานการผลิตสื่อสร้างสรรค์ด้านพลังงาน
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิริโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวถึงการประกาศรางวัล “ซูเปอร์กบจูเนียร์” ว่า “กว่า 4 เดือนที่เราเดินทางมา จนถึงโค้งสุดท้ายของการแข่งขันในกิจกรรม “กบจูเนียร์” ภายใต้โครงการ “คนบันดาลไฟ : ใครไม่ Change Climate Change” ถือเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน พลังคนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศ ส่งผลงานผลิตสื่อสร้างสรรค์ด้านพลังงานเข้ามา
จากการเปิดอบรมให้ความรู้ทั้งด้านพลังงานสะอาดและด้านการผลิตสื่อสร้างสรรค์ทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ จนได้ 178 ผลงาน จาก 121 สถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาตอนต้นทั่วประเทศทุกภูมิภาคที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการทรงคุณวุฒิ คัดเลือกจนได้ 20 ผลงานสุดท้าย
ต้องบอกว่าทั้ง 20 ผลงานถือเป็นงานคุณภาพ และความภูมิใจของเรา นอกจากรางวัลในวันนี้ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เด็กและเยาวชนจะได้รับ ก็คือประสบการณ์ การทำงานเป็นทีม มิตรภาพ กระบวนการคิด ความรู้จากการผลิตสื่อสร้างสรรค์ด้านพลังงานสะอาดจากการเข้าร่วมอบรบกับทีมงานมืออาชีพ ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องโลกรวน โลกร้อน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นโลกเดือด ที่พวกเราจะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการถ่ายทอดให้ความรู้และเผยแพร่ให้ทุกคนหันมาตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง และตื่นตัวในสังคมเป็นวงกว้างมากขึ้น
ทั้ง 20 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ ทีมที่ชนะเป็นเจ้าของรางวัล “ซูเปอร์กบจูเนียร์” คือทีมที่ถ่ายทอดคำว่า change ผ่านการนำเสนอผลงานที่ทำให้คนดูรู้สึกว่า เราจำเป็นจะต้อง “เปลี่ยน” เพื่อ “โลก” และชีวิตที่ดีกว่าเดิม ผ่านความรู้ความเข้าใจเรื่องพลังงานสะอาด อันนี้แหละคือหัวใจสำคัญของกิจกรรมกบจูเนียร์ : ใครไม่ Change Climate Change” ในครั้งนี้
ซึ่งจากการดูผลงานของทั้ง 20 ทีม เราเห็นถึงความสามารถที่เต็มไปด้วยความตั้งใจ จึงได้มีรางวัลให้กับทุกทีมโดยแบ่งรางวัลเป็นแต่ละด้าน ดังนี้
1.รางวัลซูเปอร์กบจูเนียร์ และ Best Creative
– รางวัลชนะเลิศ ซูเปอร์กบจูเนียร์ (ชนะเลิศ) ได้แก่ ทฤษ ดี 3 ป. จากโรงเรียนทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
– รางวัล Best Creative (รองชนะเลิศ) ได้แก่ 0.3 Stories จากวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 2
2.รางวัลยอดเยี่ยมด้านเนื้อหา
– รางวัล Innovative & Technology ได้แก่ EFFECT E เก่า-เปลี่ยน-โลก จากโรงเรียนอิสลามสันติชน กทม.
- รางวัล Clean Energy For Climate Change ได้แก่ โซล่าปั๊มสุดยอดพลังงานเพื่อชุมชน
จากวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 2 จ.ราชบุรี
3.รางวัลยอดเยี่ยมด้านการผลิต - รางวัลตัดต่อยอดเยี่ยม ได้แก่ ใครฆ่ามัน จากโรงเรียนพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
- รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม ได้แก่ WAKE จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่
- รางวัลเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม ได้แก่ มูลฝอย JOURNEY จากโรงเรียนประเทืองทิพย์วิทยา กทม.
- รางวัลบทยอดเยี่ยม ได้แก่ ทฤษ ดี 3 ป. จากโรงเรียนทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
- รางวัลทีมนักแสดงยอดเยี่ยม ได้แก่ ทฤษ ดี 3 ป. จากโรงเรียนทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
4.รางวัลขวัญใจกรรมการ - CLIMATE LOVE สภาวะรักรวน จากโรงเรียนพิมานวิทย์นราธิวาส จ.นราธิวาส
- รางวัล Popular Vote
- Clean Energy ชี้ทางรวย โรงเรียนรังษีวิทยา จังหวัดเชียงใหม่
ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับทุกรางวัลในกิจกรรมกบจูเนียร์ “ใครไม่ Change Climate Change” เด็กๆ ทุกคนเก่งมาก ถือเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่พร้อมขยายความรู้ความเข้าใจด้านพลังงาน ที่ทางกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะบ่มเพาะและสานต่อพันธกิจขยายฐานความรู้ สร้างความเข้าใจในเรื่องพลังงานที่เชื่อมโยงการเปลี่ยนผ่านพลังงานดั้งเดิมสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน (Energy Transition) ต่อไป
ด้านน้องๆ จากโรงเรียนทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ซูเปอร์กบจูเนียร์จากผลงาน “ทฤษ ดี 3 ป.” และอีก 2 รางวัล (รางวัลบทยอดเยี่ยม/ รางวัลทีมนักแสดงยอดเยี่ยม) แห่งความภาคภูมิใจได้กล่าวว่า “ทีมได้ตั้งปณิธานว่าจะกลับมายังเวทีนี้อีก ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาร่วมกิจกรรมกับกบจูเนียร์ เคยส่งผลงานเข้าประกวดทางด้านภาพยนต์หลายที่ แต่ไม่เคยได้รางวัล จนกระทั่งได้มาเจอกับกิจกรรมกบจูเนียร์ ได้ความรู้และประสบการณ์จากพี่ๆ ทีมงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ และเก็บสั่งสมประสบการณ์ เรียกได้ว่าเป็นเวทีเปลี่ยนชีวิต
ซึ่งในปีที่แล้ว รุ่นพี่ของพวกเราเคยส่งผลงานเข้าประกวดและได้รางวัล จึงนำเงินรางวัลที่ได้ในปีที่แล้วมาต่อยอด ซื้ออุปกรณ์ในการทำงานเพื่อให้รุ่นน้องอย่างพวกเราได้ใช้งานและพัฒนาต่อยอดงานให้ดีขึ้น จนมาปีนี้โรงเรียนทุ่งสง สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศและรางวัลอื่นๆ มาครอง และอยากให้ทุกคนที่มีฝันอย่ายอมแพ้ หากวันนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ ให้เอาความรู้และประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวและสั่งสมมาพัฒนางานของเราให้ดีขึ้น”
ส่วนน้องๆ จากโรงเรียนประเทืองทิพย์วิทยา จ.กรุงเทพฯ ทีมที่ได้รับรางวัลด้านการผลิตเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม จากผลงานเรื่อง “มูลฝอย JOURNEY” กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลนี้ เพราะจากการสมัครเข้าร่วมกิจกรรม จาก 178 ผลงาน 121 สถาบัน ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก และได้ตีโจทย์ในการผลิตงานในครั้งนี้ อยากได้ความแตกต่างและการนำเสนอในรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร เลยเลือกที่จะนำเสนอผลงานในรูปแบบของ ตัวการ์ตูนกราฟฟิกทั้งเรื่อง
ซึ่งในเนื้อเรื่องจะใช้ตัวการ์ตูน น้องขยะมูลฝอย เป็นตัวเดินเรื่อง แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ขยะมูลฝอยแต่ก็อยากเป็นขยะที่สามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นพลังงานสะอาด เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล ซึ่งจากโจทย์ที่ได้รับ การพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนได้เข้ารอบ 20 ทีมสุดท้าย
ซึ่งจากการที่ได้เห็นผลงานของแต่ละทีมและได้รับฟัง Comment คำแนะนำจากพี่ๆ คณะกรรมการในส่วนต่างๆที่เข้มข้นและเจาะลึกลงไป จึงเห็นว่ายังมีหลายจุดที่ต้องปรับ ถึงแม้ว่าในรอบแก้ไขจะมีเวลาจำกัด และต้องปรับใหม่เกือบทั้งเรื่อง ต้องกินนอนที่โรงเรียน แต่ก็ได้กำลังใจจากเพื่อนๆ อาจารย์ที่ปรึกษาและทางโรงเรียนก็ให้การสนับสนุนกับกิจกรรมอย่างเต็มที่ จนได้รับรางวัลเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยมในครั้งนี้
และน้องๆ จากโรงเรียนอิสลามสันติชน จ.กรุงเทพฯ ทีมที่ได้รางวัลด้านเนื้อหา INNOVATIVE & TECHNOLOGY กับผลงานเรื่อง “EFFECT E เก่า-เปลี่ยน-โลก” ซึ่งเนื้อหาจะสื่อถึง EV Conversion เปลี่ยนรถน้ำมันเป็นรถ EV การใช้รถยนต์ของคนในปัจจุบันที่ปล่อยมลพิษออกมา เป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิด PM 2.5 ฝนกรด และสภาวะเรือนกระจก ทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหรือ Climate Change
โดยนำเสนอวิธีการปรับเปลี่ยน สถานที่ของการให้บริการและข้อดีของการหันมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า (รถ EV) ที่เป็นพลังงานสะอาด และเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนโลก จากผลงานผ่านเข้ารอบ ทีมยังเห็นจุดบกพร่องและยังต้องนำกลับไปพัฒนาอีกหลายจุด อุปสรรคหนึ่งของการทำงานคือกำลังคนและเวลา ซึ่งหลังจากเร่งพัฒนาแก้ไขจนเสร็จก็ได้รับคำชื่นชม รู้สึกเป็นเกียรติมาก และดีใจที่ได้รับรางวัลนี้
มาร่วมกัน เปลี่ยน” เพื่อชีวิตที่ดีกว่า “ใครไม่ Change Climate Change” และสามารถติดตามผลงานของน้องๆ กบจูเนียร์ ทั้ง 20 ทีมได้ที่ https://www.facebook.com/khonbandarnfai