กลุ่มองค์กรด้านสิทธิผู้หญิง ออก แถลงการณ์

แถลงการณ์ต่อกรณีการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แถลงโดย กลุ่มองค์กรด้านสิทธิผู้หญิง เด็ก และความเป็นธรรมทางเพศ

วันที่ 14 ตุลาคม 2566
สืบเนื่องจากกรณีที่มีข่าวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมคุกคามทางเพศต่ออาสาสมัครของพรรค โดยผู้เสียหายได้มีการร้องเรียนไปยังพรรคการเมืองต้นสังกัด แต่กระบวนการพิจารณามีความล่าช้า จนเกิดการเผยแพร่ข้อกล่าวหาดังกล่าวผ่านสื่อต่าง ๆ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา และนำมาสู่การตอบโต้ของผู้ถูกกล่าวหาผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย และการแถลงข่าวความคืบหน้าในการดำเนินการสอบสวนของพรรคเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

โดยที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนมอบหมายให้ถือครองอำนาจทางการเมือง จึงต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของสาธารณะอย่างเคร่งครัด ทั้งการปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ และพฤติกรรมอื่นใดที่อาจขัดต่อกฎหมายและมาตรฐานจริยธรรมของสังคม
กลุ่มองค์กรด้านสิทธิผู้หญิง เด็ก และความเป็นธรรมทางเพศ ขอเรียกร้องต่อพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคการเมืองและองค์กรที่กำกับดูแลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ ทั้งที่เคยและยังไม่เคยตกเป็นข่าวเกี่ยวเนื่องกับการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ ให้แสดงเจตจำนงที่ชัดเจนในอันที่จะขจัดการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศในองค์กร และช่วยกันสร้างมาตรฐานสังคมที่ไม่ยอมรับการกระทำผิดทางเพศ โดยดำเนินการดังนี้

  1. ประกาศนโยบายและมาตรการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศในองค์กรให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม
  2. จัดให้มีกลไกรับเรื่องร้องเรียนกรณีการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศที่เข้าถึงได้ง่าย มีความละเอียดอ่อนต่อประเด็นเรื่องเพศ และถือเอาผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง
  3. กำหนดขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการตอบสนองต่อข้อร้องเรียนเรื่องการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศที่มีความชัดเจน รอบด้าน มีกรอบเวลาในการดำเนินการโดยไม่ชักช้า มีแนวทางการเยียวยาผู้เสียหาย และมีมาตรการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างได้สัดส่วนต่อความผิดที่เกิดขึ้น รวมทั้งยึดถือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าวอย่างจริงจัง และแจ้งความคืบหน้าและผลการดำเนินการให้ผู้เสียหายและสังคมได้รับทราบ
  4. มีมาตรการในการคุ้มครองผู้เสียหาย ผู้แจ้งเหตุ และพยาน ไม่ให้ถูกกดดัน ข่มขู่ กลั่นแกล้ง หรือได้รับผลกระทบทางลบอื่นใด อันเป็นผลจากการจากร้องเรียนกรณีคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ
  5. มีมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาการคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศในองค์กร อาทิ การประกาศจุดยืนและนโยบายต่อต้านการกระทำผิดทางเพศให้เป็นที่รับรู้กว้างขวาง การประชาสัมพันธ์กลไกรับเรื่องร้องเรียน การรณรงค์หรือจัดอบรมสร้างเสริมจิตสำนึกเรื่องความเป็นธรรมทางเพศในหมู่สมาชิกองค์กร เป็นต้น
  6. ในฐานะองค์กรด้านนิติบัญญัติ พรรคการเมืองควรริเริ่มและผลักดันให้มีการออกกฎหมายเฉพาะด้านเพื่อจัดการปัญหาการการคุกคามทางเพศ โดยกำหนดลักษณะฐานความผิดให้ชัดเจนและครอบคลุมพฤติกรรมที่เป็นการคุกคามทางเพศในลักษณะต่าง ๆ กำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิด และมีมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย เพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำผิด และให้การคุ้มครองทางกฎหมายที่ชัดเจนแก่ผู้เสียหาย
    ​ทั้งนี้ โดยความคาดหวังว่าพรรคการเมืองและองค์กรกำกับดูแลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหลาย จะไม่มีเพิกเฉยหรือมีพฤติกรรมปกปิดปัญหาการกระทำผิดทางเพศโดยสมาชิกขององค์กร แต่จะเป็นกลไกที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับมาตรฐานจริยธรรมและความเป็นธรรมทางเพศในสังคมไทย
    ลงชื่อองค์กร/บุคคล
  7. แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ
  8. สมาคมเพศวิถีศึกษา 3. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 4. มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว
  9. เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง 6.มูลนิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา 7. มูลนิธิขวัญชุมชน
  10. เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต 9. เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง 10. กลุ่มทำทาง
  11. มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน 12. องค์กรทีค – พลังทรานส์
  12. เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน 14. เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน
  13. ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน 16. ภาคีนิติธรรมพลเมือง
  14. นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน 18. นางสุมณฑา ปลื้มสูงเนิน กลุ่มไม้ขีดไฟ
  15. ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ทนายความ 20. นายเจกพันธ์ พรมมงคล สภาประชาชนภาคใต้

ประสานงานเพิ่มเติม โทร. 087 4976290

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *