3 หมอภูเก็ตว้าวุ่น กระตุกรัฐทบทวนนโยบายเปิดผับตี 4 ชี้ผลกระทบเจ็บ-ตาย-พิการ สูญงบมหาศาล เทียบรายได้จากการท่องเที่ยวแค่หยิบมือ ถามกลับมาตรฐานควบคุม ป้องกัน ที่ชัดเจนอยู่ตรงไหน พร้อมยกประกาศรัฐบาลต่างประเทศติดธงแดงอุบัติเหตุทางถนนเมืองภูเกต หวั่นซ้ำปัญหา
เมื่อเร็วๆ นี้ เพจเรื่องเหล้ารอบโลก ได้จัด FB live สัมภาษณ์ นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล แพทย์ศัลยกรรมประสาท โรงพยาลาลวชิระภูเก็ต และ พญ.ชนิดา เข็มเงิน แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ในประเด็น “เปิดผับถึงตี 4 หมอภูเก็ตว้าวุ่นมั้ยล่ะทีนี้?” ในฐานะแพทย์ผู้ที่ปฏิบัติงานในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง
พญ.ชนิดา กล่าวว่า จากรายงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 สิงหาคม 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 119 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ถึง 38 ราย คิดเป็น 46 % ส่วนบาดเจ็บสาหัส 903 ราย และบาดเจ็บทั่วไป 14,364 ราย โดยยานพาหนะที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นจักรยานยนต์ 84 % ส่วนช่วงอายุผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ 31-40 ปี ทั้งนี้ช่วงเวลาเกิดเหตุมากที่สุดคือ 21.00-22.00 น. และ 01.00-02.00 น.
ขณะที่รายงานสถานการณ์บาดเจ็บอื่นๆ ที่มีสาเหตุมาจากเเอลกอฮอล์ในปีงบประมาณ 2566 ของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต มี99 ราย ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ 01.00-03.00 น. จะเห็นว่า การบาดเจ็บ เสียชีวิตของทั้ง 2 กลุ่ม สอดคล้องกับช่วงเวลาเปิด ปิด และเดินทางกลับจากสถานบันเทิง นอกจากนี้ สถานบันเทิงไม่ใช่แค่สถานที่บริโภคแอลกอฮอล์เท่านั้น แต่ยังมีการลักลอบใช้สารเสพติดอื่น ๆ รวมถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ที่น่าเป็นห่วงมากเช่นกัน
ดังนั้น อยากให้คิดให้รอบด้าน ถ้าจะมีการขยายเวลาเพิ่มอีก 2 ชั่วโมง แต่ถ้าจะเปิดถึงตี 4 จริงๆ ก็ควรจัดโซนนิ่ง เพิ่มการตั้งด่าน และระบบขนส่งสาธารณะที่ดีขึ้น และต้องเตรียมรับผลที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในฐานะหมอเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือคนทำงานในสาธารณสุขซึ่งอยู่ในฐานะของผู้ตั้งรับผลกระทบ ก็อยากจะถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวว่า มีมาตรการอะไรบ้าง เพื่อป้องกันผลกระทบจากการบาดเจ็บและเสียชีวิต
ด้าน นพ.เลอศักดิ์ กล่าวว่า การขยายเวลาเปิดผับบาร์จะทำให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นแน่นอน และจะ จะส่งผลทำให้มีอุบัติเหตุจราจร การทะเลาะวิวาท และเคสผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการขยายเวลาอย่างเป็นระบบ อย่ามองเพียงแค่รายได้ที่จะเพิ่มเพียงอย่างเดียว เพราะจริงๆ แล้วมีผลกระทบอีกมากที่ตามมา ทั้งผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้พิการ ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการรักษามาหาศาล
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่า ปัจจุบันมีคำแนะนำของรัฐบาลในบางประเทศแก่นักท่องเที่ยวของตนว่าไม่ควรเช่ายานพาหนะขับขี่เองในจังหวัดภูเก็ตเนื่องจากเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งเป็นคำเตือนระดับธงแดง จึงมีความกังวลเช่นกันว่าการขยายเวลาเปิดผับจะซ้ำเติมปัญหาดังกล่าว ทั้งๆ ที่แหล่งท่องเที่ยวควรเป็นที่ที่มาแล้วมีความสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
อย่างไรก็ตาม หากมีการขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 ควรให้ทำได้เฉพาะบางโซนเท่านั้น เช่น หาดป่าตอง หาดกะตะ และต้องเตรียมมาตรการรองรับให้นักท่องเที่ยวที่ออกจากผับแล้วกลับที่พักอย่างปลอดภัย ประกอบด้วย การตั้งด่านตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด การจัดระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ รวมถึงการจัดระบบบริการทางการแพทย์ ส่วนพื้นที่ในเมืองซึ่งเป็นพื้นที่เปิด ควบคุมยาก ควรเปิดถึงตี 2 ก็พอ และควรจะต้องมีการกั้นด่านในโซนนิ่งที่มีสถานบันเทิงในเมือง ถ้าเมาออกมาก็ไม่ควรขับรถขับมอเตอร์ไซต์เพื่อไปเที่ยวสถานบันเทิงต่อ
ด้าน รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการผลักดันนโยบายดังกล่าวจริง การวางแผนงานในระดับจังหวัดควรต้องนำหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้บริหารโรงพยาบาลในพื้นที่เข้าไปร่วมวางแผนด้วย ไม่ใช่วางแผนกันเพียงแต่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ.