ภาคประชาชนยื่นหนังสือถึง “ชัชชาติ” จี้ทบทวนเปิดสถานบริการตี 4 ได้ไม่คุ้มเสีย เพิ่มทั้งอาญชากรรม และอุบัติเหตุบนท้องถนน (เมาแล้วขับ)
ภาคประชาชนยื่นหนังสือถึง “ชัชชาติ” แสดงความผิดหวังอย่างแรง หลังสนับสนุน เปิดสถานบริการตี 4 เพิ่มพื้นที่เสี่ยง ไม่สนความปลอดภัยคนทำมาหากินเช้าตรู่ จี้ทบทวนและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด สั่งปิด 5 ปี หรือปิดถาวร หากพบผับบาร์ทำผิดกฎหมาย พบยาเสพติด ให้เด็กใช้บริการ หรือค้าประเวณี
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว มูลนิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายองค์กรงดเหล้า ยื่นหนังสือถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการ ผับ บาร์ ถึงตี 4 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
นางนัยนา ยลจอหอ ประธานชุมชนวัดสวัสดิ์วารีศรีมาราม เขตดุสิต กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงออกไปถึง 04.00 น. อ้างว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยมีกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ขานรับกับนโยบายนี้รวมถึงกรุงเทพฯ ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนโดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และองค์กรภาคีที่ทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังและลดปัญหาสังคม
รู้สึกผิดหวังและเสียใจ ที่ผู้ที่เลือกตัวเองมาทำหน้าที่ในการดูแลทุกข์สุขของชาว กทม. กลับมีจุดยืนที่สนับสนุนในการเพิ่มพื้นที่เสี่ยงเช่นนี้ ทั้งๆ ที่ข้อมูลสถิติก็เห็นได้ชัดว่าในแต่ละปี มีอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้มีผู้บาดเจ็บผู้พิการและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ล่าสุดในปี 2566 มีผู้เสียชีวิตสะสมแล้ว 12,398 ราย บาดเจ็บ 708,703 ราย สาเหตุหลักสำคัญยังคงมาจากการดื่มแล้วขับ
ซึ่งแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกหากมีนโยบายขยายเวลากินดื่มในร้านเหล้าผับบาร์ แม้จะเป็นข้อเสนอแค่บางพื้นที่นำร่อง แต่ไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่า จะกันคนนอกพื้นที่เข้าไปในพื้นที่อนุญาตได้ สุดท้ายแล้วการจำกัดแค่บางพื้นที่ก็จะไร้ประโยชน์และทำไม่ได้จริง และส่วนใหญ่ก็จะมีแต่คนไทยเข้าไปไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยว
“เครือข่ายเห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ แต่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย ความสงบสุขของประชาชนอย่างการขยายเวลาเมาไปถึงตี 4 ต้องถูกชั่งน้ำหนักให้ดีว่าได้คุ้มกับที่เสียไปหรือไม่ ซึ่งจะเห็นว่าเห็นว่าข้อเสนอนี้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในและต่างประเทศ ที่มีความพยายามนำเสนอต่อแทบทุกรัฐบาล
ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้ยกเลิกเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 14.00-17.00 น. เสนอให้ขายได้ตลอด 24 ชั่วโมงรวมไปถึงการขยายเวลาเปิดสถานบริการเป็น 04.00 น.นับเป็นความพยายามที่ถูกดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นขั้นเป็นตอน ดังนั้นการที่ผู้ว่าฯ กทม. ขานรับนโยบายนี้จึงทำให้พวกเราผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่กรุงเทพมหานครมีดีมากกว่า การใช้ร้านเหล้าผับบาร์เป็นจุดขาย” นางนัยนา กล่าว
ด้านนายนิวัฒน์ ทองประเสริฐ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง กทม. กล่าวว่า หลายปีก่อนตนเองสูญเสียพ่อจากคนเมาแล้วขับมาชนตอนเวลาตี 3 ทั้งที่พอก็ประกอบอาชีพขายอาหารอยู่ตามปกติ ตนจึงเข้าใจได้ดีถึงความสูญเสียว่ามันเจ็บปวดขนาดไหน และหาก กทม. จะมีนโยบายขยายเวลาเปิดผับบาร์ออกไปอีก ก็จะยิ่งเพิ่มคนเมาบนท้องถนน แล้ว กทม. ต้องใช้กำลังคนเท่าไหร่ในการป้องกันแก้ไขปัญหาจากคนเมาแล้วขับ ต้องใช้ตำรวจ เทศกิจ กู้ภัย หมอพยาบาลอีกเท่าไหร่ มันไม่คุ้มกันเลย
“ดังนั้นเครือข่ายจึงมีจุดยืนและมีข้อเสนอต่อผุ้ว่าราชการกรุงเทพหมานครดังนี้
1.ขอแสดงความผิดหวังและเสียใจกับจุดยืนของผู้ว่าฯ กทม. ที่สนับสนุนการขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึง 04.00 น. และขอคัดค้านการขยายเวลาดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะสี่ยงเพิ่มอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ ปัญหาสุขภาพ กระทบกับการใช้ชีวิตของคนทำมาหากินในช่วงเวลาดังกล่าว
2. กรุงเทพฯ ไม่ควรใช้การท่องเที่ยวผับบาร์ กินดื่มมาเป็นจุดขาย แต่ควรมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว และประชาชนทุกกลุ่ม
3. ขอให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จริงจัง กับสถานบริการและสถานประกอบการที่คล้านสถานบริการทุกแห่ง ที่ทำผิดกฎหมาย มียาเสพติด ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็ก ให้เด็กเข้าใช้บริการ พบการพนัน ค้ามนุษย์ หรือเปิดเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยนำคำสั่ง คสช. 22/2558 มาบังคับใช้อย่างจริงจังเพื่อสั่งปิด 5 ปี หากอยู่นอกเขตโซนนิ่ง หรือปิดถาวรหากอยู่ในเขตโซนนิ่งใกล้สถานศึกษา และขอให้มีการเปิดพื้นที่รับแจ้งเหตุเป็นการเฉพาะ