เครือข่ายการค้าธุรกิจอาหารและท่องเที่ยวปลอดภัย ห่วงรัฐขยายเวลาขาย และแก้กฎหมายลดทอนการควบคุมน้ำเมา หวั่นกระทบความปลอดภัยชุมชนและภาพลักษณ์การท่องเที่ยว วอนสร้างเศรษฐกิจที่ปลอดภัย สร้างสรรค์และยั่งยืน ทั้งต่อนักท่องเที่ยวและชุมชน พร้อมยื่น 9 ข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี
วันที่ 21 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายการค้าธุรกิจอาหารและท่องเที่ยวปลอดภัยกว่า 32 องค์กร เข้ายื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้พิจารณาส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจอาหารที่ปลอดภัย สร้างสรรค์และยั่งยืน ทบทวนการแก้กฎหมายลดทอนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายเกียรติคุณ รอดตัว นายกสมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจ ขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงใน 5 พื้นที่นำร่อง เมื่อปลายปี 2566 ทางเครือข่ายฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมาได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจากทั่วประเทศถึงนโยบายดังกล่าว
รวมถึงกรณีที่จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อลดทอนการควบคุมนั้น โดยที่ประชุมมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างยิ่ง ซึ่งมีความกังวลต่อปัญหาอบายมุข ทั้งยาเสพติด กระท่อม เหล้า เบียร์ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา ที่เด็กเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายเกินไป ขณะที่กลไกควบคุมรัฐยังหละหลวม
นำมาซึ่งปัญหาทางสังคม อุบัติเหตุ การเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับที่เพิ่มขึ้น เป็นภาระของประเทศในระยะยาว กังวลต่อคุณภาพประชากรโดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษามีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเติบโต และเป็นกังวลต่อคุณภาพของนักท่องเที่ยว
“เรามีความกังวลต่อคุณภาพของนักท่องเที่ยวที่จะลดลง เพราะการบริโภคสุราที่มากเกินไปทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาทิ การนอนหลับอย่างไร้สติข้างถนน หน้าร้านสะดวกซื้อ ส่งเสียงรำคาญรบกวนนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ ที่ตั้งใจมาพักผ่อนใช้ชีวิตเพื่อชื่นชมธรรมชาติวัฒนธรรมในช่วงกลางวัน เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจท่องเที่ยวในท้ายที่สุด
รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ทั้งในมิติอุบัติเหตุ ความรุนแรง ทะเลาะวิวาท อาชญากรรมและการคุกคามทางเพศ ตลอดจนเป็นกังวลต่อการใช้ชีวิตตามปกติของประชาชน โดยเฉพาะยามเช้ามืดและช่วงค่ำ ทั้งคนทำมาหากินยามเช้า พ่อค้าแม่ค้าที่ออกไปซื้อวัตถุดิบเข้าร้าน ครอบครัวที่ต้องไปส่งลูกไปโรงเรียน รวมทั้งกลุ่มนักวิ่ง นักปั่น ผู้ออกกำลังกายที่ได้รับความเดือนร้อน ซึ่งเป็นข้อมูลที่พบเห็นได้และเป็นเสียงสะท้อนจากลูกค้าที่มาใช้บริการ
ทุกวันนี้เราเจอคนที่มีอาการซึ่งชาวบ้านทางใต้เรียกว่า “เชือน” มากขึ้น คือมีปัญหาทางจิตเวชจากการใช้สารเสพติด แล้วจะมาเปิดให้กินดื่มได้เสรีมากขึ้น จะยิ่งซ้ำเติมปัญหา เราควรเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ (Sober Tourism) ซึ่งเป็นกระแสที่มีมากขึ้นในต่างประเทศ โดยจะเน้นการเรียนรู้วิถีชีวิต อาหารในท้องถิ่น ธรรมชาติ วัฒนธรรม ซึ่งเป็นทิศทางที่ประเทศเราควรจะสนับสนุน มากกว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบมอมเมาด้วยอบายมุข ซึ่งเราจะได้นักท่องเที่ยวไม่มีคุณภาพสร้างความเสียหายต่อภาพรวมการท่องเที่ยวของเราในอนาคต”นายเกียรติคุณ กล่าว
ด้าน ดร.วิฑูร อินทจันท์ นายกสมาคมการค้าธุรกิจอาหาร กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายด้านการสนับสนุนการท่องเที่ยวและการเป็นศูนย์กลางอาหารโลกของรัฐบาล แต่วิธีปฏิบัติในการส่งเสริมธุรกิจโดยเฉพาะต่อชุมชนนั้น พวกเราเห็นว่ายังไม่ตอบโจทย์เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมของคาราวานสินค้าที่นำสินค้าจากที่อื่นมาขายหรือการใช้ออกาไนซ์เซอร์จัดงาน ทำให้ผู้ประกอบท้องถิ่นไม่ได้รับประโยชน์
จึงเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจอาหารในท้องถิ่นต่าง ๆ ทำกิจกรรมตามเทศกาลเป็นหลักและประชาสัมพันธ์ร้านค้าในชุมชน ให้รับรู้มากกว่าจะเน้นร้านที่ดังอยู่แล้ว นอกจากนั้น การส่งเสริมวงจร supply chain จากเกษตรกรตรงสู่ร้านอาหาร รวมทั้งมาตรฐานร้านอาหารที่ปลอดภัยจะต้องเร่งให้เกิดการยอมรับมากยิ่งขึ้น เพราะอาหารไทยขึ้นชื่ออยู่แล้ว
แต่ต้องเน้นย้ำเรื่องความสะอาด ปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาพมากยิ่งขึ้น การขายเหล้าเบียร์ในร้านอาหารนั้น ทุกวันนี้กลายเป็นค่านิยมและรับรู้กันแล้วว่าขายได้ในช่วงเวลาไหน และไม่ได้ส่งผลต่อการขายอาหารเพราะได้ทำมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการขยายเวลาน่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจผับบาร์ และร้านสะดวกซื้อมากกว่า หากรัฐบาลจะเอาจริง ๆ ต้องตอบให้ได้ว่าจะป้องกันผลเสียที่เกิดขึ้นได้อย่างไร จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร และร้านค้าที่ขายจะมีส่วนรับผิดชอบต่อลูกค้าอย่างไร
“ข้อสรุปจากที่ประชุม เครือข่ายการค้าธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยวปลอดภัย มีข้อเสนอที่อยากขอให้รัฐบาลนำไปพิจารณาดังนี้ (1)รักษาจุดยืนการท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์ ปลอดภัย เน้นวิถีวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (2)บังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ยุติธรรมและเท่าเทียม ควบคุมการขายสุราอย่างเข้มงวด ป้องกันผลกระทบจากการดื่มแล้วขับ กำหนด Zoning ให้ชัดเจนระหว่างพื้นที่ท่องเที่ยวและพื้นที่ชุมชน เข้มงวดเรื่องการขับขี่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่ปลอดภัย (3)พัฒนาความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการขาย เพื่อป้องกันมิให้มีคนดื่มแล้วขับลงสู่ท้องถนน (4)เร่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ส่งเสริมธุรกิจขนส่งสาธารณะบน Platform Online ให้ครอบคลุม ทั้งพื้นที่เมืองและชนบท เพื่อพาคนดื่มเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย (5)ตั้งคณะทำงานศึกษาวิจัยผลกระทบที่จะมีต่อสังคมก่อนตัดสินใจขยายเวลา และผลสืบเนื่องจากนโยบายลดทอนการควบคุมสุราอย่างรอบคอบ (6)ส่งเสริมงานเทศกาลอาหารปลอดภัย ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องทะเลาะวิวาทและอุบัติเหตุ อาทิ จัดให้มี Big Event/งาน Expo ด้านการท่องเที่ยวหรืออาหาร ยกระดับสตรีทฟู้ด ฮาลาล สมุนไพร อาหารเพื่อสุขภาพ สร้าง Signature เมนูอาหารท้องถิ่น สร้าง Brand มิชลินไทยแลนด์ จัดให้มีปฏิทินท่องเที่ยว-อาหาร 12 เดือนทุกจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลก สร้างประสบการณ์ผ่าน Food Tourism (7)พัฒนาจุดแลนด์มาร์คกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อกระจายรายได้ถึงชุมชน (8)สร้างข้อตกลงร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการและชุมชนในพื้นที่ ในการอยู่ร่วมกันด้วยการเคารพวิถีวัฒนธรรม ให้มีกลไกจัดการร่วมกรณีมีเหตุเดือดร้อนรำคาญเกิดขึ้นในพื้นที่ (9)พิจารณาแนวทางการเก็บภาษีเฉพาะเพิ่มเติม สำหรับผู้ใช้บริการสถานบันเทิงเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด และนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศ” ดร.วิฑูร กล่าว