การผลักดันแก้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะหวังกระตุ้นเศรษฐกิจจากการเก็บภาษี นั่นแสดงว่า รัฐบาลกำลังเห็นความสำคัญของกลุ่มผลประโยชน์อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์มากกว่าคุณค่าชีวิตและสุขภาพของประชาชน
อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ โต้งานวิจัย TDRI คลาดเคลื่อน พูดไม่หมด หลังหนุนรัฐใช้โมเดลฟินแลนด์ ปล่อยเสรีแอลกอฮอล์กระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้ข้อเท็จจริงฟินแลนด์คุมเข้มโฆษณา หลังพบปล่อยฟรีทำหนุ่ม สาว ดื่มหนัก ย้ำหากรัฐบาลเชื่อเดินตาม ผิดหลักบริหารประเทศ สวนทางหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน และคำแนะนำองค์การอนามัยโลก เสี่ยงถูกมองทำเพื่อกลุ่มทุน ไม่สนประชาชน เพราะเก็บภาษีได้แค่ 1.5 แสนล้าน แต่สูญเสียทางสังคมกว่า 1.7 แสนล้าน
วันที่ 18 เมษายน ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสินค้าที่เสรีภาพในการบริโภคของบุคคลก่อให้เกิดผลกระทบทางลบ ละเมิดต่อสิทธิบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การบาดเจ็บทุพพลภาพ เสียชีวิต การถูกทำความรุนแรงทางร่างกาย ฯลฯ
ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นสินค้าที่รัฐบาลทุกประเทศต้องควบคุม เพื่อลดการบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะการหวังให้ผู้บริโภค หรือผู้ผลิต ผู้จำหน่าย มีสำนึกรับผิดชอบในการดื่มและจำหน่ายเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้การศึกษาในทวีปยุโรป ยกเว้นสหราชอาณาจักร พบว่า การให้ผู้ขายควบคุมการโฆษณาให้เหมาะสม (self-regulated) โดยรัฐไม่บังคับ เป็นวิธีที่ล้มเหลวในการป้องกันการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น
ปัจจุบันรัฐบาลทุกประเทศจึงพยายามดำเนินมาตรการที่เข้มงวดเพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เกิดการบาดเจ็บ และโรคไม่ติดต่อหลายชนิด ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงผลิตภาพของแรงงาน และงบประมาณภาครัฐด้านสาธารณสุข ทั้งหมดนี้บั่นทอนความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ
สำหรับประเทศไทย ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า รายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึง 6 แสนล้านบาท แต่รัฐได้รายได้จากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงปีละ 1.5 แสนล้านบาท จุดนี้แสดงนัยยะว่า นอกนั้นเป็นรายได้ที่กระจุกตัวเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้สร้างต้นทุนความเสียหายมากกว่า 1.7 แสนล้านบาท
“หากรัฐบาลจะผลักดันแก้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะเห็นแก่ภาษีที่รัฐจะได้รับเพียงเล็กน้อย นั่นแสดงว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของกลุ่มผลประโยชน์อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์มากกว่าคุณค่าชีวิตและสุขภาพของประชาชน รวมถึงความปลอดภัยและความสงบสุขของประเทศ จึงเห็นว่า รัฐบาลต้องไตร่ตรองและทบทวนว่าจะเป็นรัฐบาลของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือรัฐบาลของประชาชน” ผศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าว
ผศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่า มาตรการด้านภาษี มาตรการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมาตรการห้ามการโฆษณา เป็น 3 วิธีที่มีประสิทธิผลและคุ้มค่าในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในภาพรวมรัฐบาลประเทศที่พัฒนาแล้วมีการใช้ทั้ง 3 มาตรการนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคม
โดยประเทศพัฒนาแล้วมีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงมาก เช่น ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตเบียร์ในออสเตรเลียระบุว่า ในปี 2020 นอร์เวย์ ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ และออสเตรเลีย เป็น 4 ประเทศแรกที่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเบียร์สูงที่สุดในโลก นอกเหนือจากภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศเหล่านี้มีราคาสูงมาก
นอกจากนี้ มาตรการจำกัดการเข้าถึง เช่น ฟินแลนด์ สวีเดนและนอร์เวย์ กำหนดให้การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นสูง ได้แก่ สุรา ไวน์ รวมถึงเบียร์ที่เกินเกณฑ์ สามารถทำได้ในร้านค้าของรัฐเท่านั้น ซึ่งวันเสาร์และวันธรรมดาจะปิดเร็ว และไม่มีการจัดจำหน่ายในวันอาทิตย์
ทั้งนี้ จากการรายงานของสื่อพบว่า TDRI ยกตัวอย่างประเทศฟินแลนด์ในด้านการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนโยบายด้านนี้ของไทย แต่ข้อมูลของ TDRI คลาดเคลื่อนจากกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของฟินแลนด์ในปัจจุบัน รวมถึงมีคำอธิบายไม่ครบถ้วน อาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสน ซึ่งในความเป็นจริง
ปัจจุบันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของฟินแลนด์ปี 2015 (แก้ไขเพิ่มเติมปี 2018) ในประเด็นการควบคุมการโฆษณา กฎหมายจำแนกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็น 2 ประเภท 1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นเกินกว่าที่กำหนด ได้แก่ สุรา โดยมาตรา 50 บัญญัติห้ามไม่ให้โฆษณาในทุกกรณีทั้งทางตรง ทางอ้อม การให้ทุนสนับสนุนการจัดกิจกรรมกีฬา ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และ 2. แบบเบา ได้แก่ ไวน์และเบียร์ ในอดีตสามารถโฆษณาได้เสรี แต่ต้องควบคุมไม่ให้โฆษณาแก่เยาวชน
แต่ฟินแลนด์ศึกษาพบว่า การอนุญาตให้โฆษณาอย่างเสรีทำให้หนุ่มสาวดื่มหนักขึ้น จึงแก้กฎหมายใหม่บัญญัติให้การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบเบาในที่สาธารณะ เช่น billboard รถบัส shopping center โรงหนัง สถานีรถไฟ หรือแม้แต่สถานที่ส่วนตัว เช่น กำแพงของบ้าน รถยนต์ เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนการโฆษณาทางโทรทัศน์ วิทยุ ไม่สามารถทำได้ระหว่าง 7.00-22.00 น. นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังบัญญัติว่า การใช้เนื้อหาที่เป็นข้อความหรือภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทโดยผู้บริโภคหรือเนื้อหาที่ตั้งใจจะแบ่งปันโดยผู้บริโภคทางโซเชียลมีเดียก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย
“จะเห็นว่า ประเทศที่เจริญแล้วใช้นโยบายเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด ซึ่งการที่รัฐบาลหรือนักการเมืองไทยจะนำนโยบายที่ประเทศหนึ่งๆ เคยใช้ เช่น ฟินแลนด์ อดีตเคยอนุญาตให้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบเบาได้อย่างเสรี ควบคุมเฉพาะกรณีเยาวชน แต่เนื่องจากพิจารณาแล้วเกิดผลกระทบต่อสังคมมาก จึงมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายแล้ว
แต่ไทยจะนำนโยบายนี้มาปรับใช้ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ การไม่ดูมาตรการทั้งหมดในองค์รวมของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ในอดีตฟินแลนด์อาจผ่อนคลายบางจุด แต่ยังคงคุมเข้มการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีความเข้มข้น เก็บภาษีสูงมาก จำกัดเวลาขาย เพื่อลดการดื่ม ซึ่งหากรัฐบาลละเลยจุดสำคัญนี้ย่อมไม่ใช่วิสัยของผู้บริหารประเทศ เพราะการออกนโยบายสาธารณะต้องมีความรอบคอบ และพิจารณาในทุกองค์ประกอบอย่างถี่ถ้วน
“ประเทศไทยมีการลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และปัจจุบันยังมีความพยายามแก้กฎหมายด้านสถานที่และเวลา ปรับแก้กฎหมายการห้ามโฆษณา เพื่อให้ประชาชนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ทั้งหมดนี้จึงเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดทั้งในหลักทฤษฎีเบื้องต้นทางเศรษฐศาสตร์ ค้านกับคำแนะนำทั้ง 3 ประการขององค์การอนามัยโลก รวมถึงแตกต่างจากประเทศที่เจริญแล้วอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของสังคมและเศรษฐกิจประเทศไทย” ผศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าวทิ้งท้าย