เหยื่อเมาแล้วขับยื่น 3 ข้อ เพิ่มโทษผีน้ำเมา รวมถึงเพิ่มบทลงโทษกับสถานประกอบการ ร้านค้า บุคคลที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็ก เยาวชนที่อายุต่ำว่า 20 ปี
เหยื่อเมาแล้วขับยื่น 3 ข้อ ขอประธานกรรมาธิการแก้กฎหมายคุมเหล้า เพิ่มโทษ เพิ่มความรับผิดชอบร้านค้า ปล่อยผีน้ำเมาสร้างผลกระทบบนท้องถนน พร้อมกองทุนเยียวยาเหยื่อ ด้าน “วิสาร” รับทุกข้อเรียกร้อง ออกกฎหมายสำหรับบังคับใช้กับทุกคน เผยเตรียมหารือ รมว.สธ. 12 มิ.ย.นี้ คุยข้อขัดข้อง พร้อมขอสนับสนุน ระบุการเพิ่มโทษไม่ใช่ทางออกเดียว แต่อาจเปิดช่องเจ้าหน้าที่คิดไม่ซื่อนำไปหากิน ย้ำต้องปลูกจิตสำนึก คิดการไกล ดึงภาษีสรรพสามิตรเยียวยา
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 นายประศม สุขแสวง ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ พร้อมด้วยสมาชิกเหยื่อเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นคนพิการได้เดินทางมาที่อาคารรัฐสภา เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ … พ.ศ… 3 ข้อ ดังนี้ 1. ขอให้คณะกรรมาธิการพิจารณาเพิ่มบทลงโทษกับสถานประกอบการ ร้านค้า บุคคลที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็ก เยาวชนที่อายุต่ำว่า 20 ปี จนนำไปสู่การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเมาแล้วขับ และพิสูจน์ได้โดยมีหลักฐานปรากฏชัด
โดยขอให้มีการลงโทษสถานหนักทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และเพิกถอนใบอนุญาตการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2. ขอให้คณะกรรรมาธิการพิจารณาให้สถานประกอบการ ร้านค้า ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องมีส่วนรับผิดชอบ กรณีปล่อยปละละเลยไม่ห้ามปรามให้ผู้มาใช้บริการเมาแล้วขับไปชนคนจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และ 3. ขอให้คณะกรรมาธิการพิจารณาให้ผู้ประกอบการตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะผลพกระทบจากการเมาแล้วขับ
นายประศม กล่าวว่า ในฐานะที่พวกตนเป็นเหยื่อเมาแล้วขับซึ่งได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับขึ้น เมื่อปี 2544 และได้ผลักดันให้มีการออกประกาศกรมสรรพสามิตห้ามไม่ให้ร้านค้าในสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอออล์ เมื่อปี 2549 เนื่องจากมีข้อมูลว่า การจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุเมาแล้วขับ มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ จนเป็นที่มาของคำว่า 7 วันอันตราย
ซึ่งประกาศดังกล่าวของกรมสรรพสามิตร ทำให้อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับลดลงอย่างมาก และเป็นสารตั้งต้นที่นำไปสู่การผลักดันให้ประเทศไทยมีการออกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอออล์ เมื่อปี 2551 ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ภายใต้การนำของนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งได้เห็นความสำคัญ และให้มีการศึกษา และพิจารณายกร่างพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นในเวลาต่อมา
“วันนี้เมื่อพรรคเพื่อไทยได้มีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศอีกวาระหนึ่ง เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คำนึงถึงหลักการที่รัฐบาลในอดีตได้ทำมา คือการปกป้องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าปกติ เหมือนขนม น้ำอัดลม การมุ่งหวังตัวเลขทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลต้องคิดให้หนัก” นายประศมกล่าว
ด้าน นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ … พ.ศ… กล่าวว่า กรรมาธิการวิสามัญร่างพ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ได้รับเรื่องการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 ประชุมกันไปแล้วหลายครั้ง อย่างไรก็ตามจะขอรับข้อร้องเรียนจากเครือข่ายฯ เป็นพิเศษเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาต่อไป
ซึ่งตอนนี้บางข้อเริ่มพิจารณาไปบ้างแล้ว บางข้ออยู่ระหว่างการพิจารณาทำให้ดีที่สุด เพื่อให้เป็นกฎหมายของทุกคน และที่สามารถบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ จึงขอให้มั่นใจว่า กรรมาธิการฯ ทั้ง 42 คน จะทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม ทำให้ดีที่สุด และมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน
ส่วนในหลายเรื่องที่ยังมีข้อขัดข้องนั้นจะมีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 12 มิถุนายน นี้ รวมถึงเรื่องที่ยังต้องการการสนับสนุนช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เช่น ทราบว่า เรื่องสิทธิในการได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ยังขาดอยู่ แม้ว่าจะมีการอนุมัติในโครงการ 30 บาทฯ ไปแล้ว
“ว่ากันตรงๆ กฎหมายบ้านเรามีหลายฉบับ และขณะนี้ได้มอบหมายการบังคับใช้ให้กับอนุกรรมการที่มีพล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช เป็นประธานฯ เพื่อให้กฎหมายหลายฉบับมีความศักดิ์สิทธิ์ หลายฉบับก็ได้คณะกรรมการกฤษฎีกามาช่วยดูให้เกิดการบังคับใช้ได้จริง
ทั้งนี้การเพิ่มโทษไม่ได้ทำให้คนหลาบจำ แต่กลับกันอาจจะกลายเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่บางส่วนที่คิดไม่ซื่อนำไปหากิน แต่เราต้องปลูกจิตสำนึก และคิดไกลถึงขั้นที่อาจจะต้องมีการใช้ภาษีบางส่วนจากสรรพสามิตมาช่วยเยียวยาท้องถิ่นที่ได้รับผลกระบท หรือที่มีการแพร่ระบาดของสุรามากขึ้น” นายวิสาร กล่าว