นักกฎหมายเพื่อสังคม ชี้ปมคนจ้าง “แบงค์ เลสเตอร์” ซดแอลกอฮอล์จนเสียชีวิต เสี่ยงผิดกฎหมายอาญา กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เล็งหารือ กมธ.คุมน้ำเมา ขันน็อตควบคุมการแข่งดื่ม จ้างดื่ม เตือนปาร์ตี้ปีใหม่ดื่มแต่พอดี ลดเสี่ยง ลดตาย ขับไม่ดื่มดื่มไม่ขับ
วันที่ 26 ธันวาคม 67 – นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ทนายความ เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสังคม กล่าวถึงกรณีที่ แบงค์ เลสเตอร์ หนุ่มอินฟลูเอนเซอร์ แร็ปขายพวงมาลัยเลี้ยงยาย เสียชีวิตจากการถูกจ้างให้ดื่มเหล้า และมีกระแสข่าวว่าอาจไม่สามารถเอาผิดกับผู้จ้างให้แบงค์ดื่มได้ว่า การที่มีกระแสข่าวออกมาเช่นนี้อาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ เพราะกรณีดังกล่าวอาจเข้าข่าย กระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา และเตรียมนำกรณีนี้หารือในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … สภาผู้แทนราษฎร เพื่อออกกฎหมายที่ชัดเจนป้องกันการจ้างดื่ม แข่งดื่ม หรือการดื่มที่เป็นอันตราย
ตนขอแสดงความเสียใจกับการเสียชีวิตของคุณแบงค์ เลสเตอร์ และครอบครัวเหตุการณ์แบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับใคร และหากแพทย์สามารถระบุได้ว่าการเสียชีวิตของคุณแบงค์ เกิดขึ้นเพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ผู้จ้างให้ดื่มอาจจะเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หากเป็นการให้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า หวังให้มียอดไลค์ ยอดแชร์จากการทำคอนเท้นต์ อาจเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในหลายมาตรา อาทิมาตรา 29 ห้ามขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 30 ว่าด้วยการห้ามส่งเสริมการขาย โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งต้องดูว่ามีประโยชน์ทางการค้าด้วยหรือไม่
“เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมาผมและภาคีเครือข่ายได้ไปร้องเรียนกับกระทรวงสาธารณสุขมาแล้ว กรณีมีการจัดแข่งขันดื่มเหล้าเบียร์ ในจังหวัดทางภาคอีสาน ซึ่งตอนนี้เรื่องส่งถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ผมไม่อยากเรื่องนี้ให้ซ้ำรอยความสูญเสียเมื่อปี 2562 ที่มีชายหนุ่มเสียชีวิตจากการแข่งเมาที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และในฐานะเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ผมจะนำประเด็นนี้เข้าไปหารือในที่ประชุมกรรมาธิการเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหากำหนดไว้ในกฎหมายนี้อย่างเป็นรูปธรรม” นายธีรภัทร์ กล่าว
ทนายความ เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสังคม กล่าวด้วยว่า เนื่องด้วยใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่จะมีการฉลอง การสังสรรค์ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงอยากขอฝากถึงพี่น้องประชาชน หากท่านไม่สามารถหลีกเลี่ยงการดื่มได้ ขอให้มีความระมัดระวังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จะส่งผลกับทุกอวัยวะที่แอลกอฮอล์ไหลผ่าน โดยเฉพาะการดื่มที่เป็นอันตราย ดื่มหนัก ดื่มเร็ว ดื่มในปริมาณมากๆ จะเข้าสู่ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษอาจจำทำให้เสียชีวิตได้ รวมถึงควรลดพฤติกรรมเสี่ยงหลังการดื่ม เช่น การขับรถ ยึดหลักดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่มจะดีที่สุด