“สงกรานต์เลี่ยงดื่ม เพิ่มพื้นที่สุข สนุก เคารพสิทธิ” จากข้อมูลที่น่าสนใจในช่วงสงกรานต์พบนักฉวยโอกาสมีการล่วงละเมิดกับผู้หญิงอย่างน่าเป็นห่วง ดังนั้นสงกรานต์ปีนี้ ทุกจุดที่มีกิจกรรมเล่นน้ำ ต้องมีจุดรับแจ้งเหตุช่วยเหลือ พร้อมแผนเผชิญเหตุ
ชู“สงกรานต์เลี่ยงดื่ม เพิ่มพื้นที่สุข สนุก เคารพสิทธิ” ข้อมูลน่าวิตก จ้องฉวยโอกาส พบถูกแต๊ะอั๋ง/ลวนลาม 32.43% เด็กต่ำกว่า 18 ปี ถูกประแป้ง 76.77% คนพิการก็ไม่เว้น หวั่นเป็นเทศกาลแห่งความรุนแรง คุกคามทางเพศ อุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท หนุนจัดพื้นที่ปลอดเหล้า ทุกจุดทำกิจกรรมเล่นน้ำ ต้องมีจุดรับแจ้งเหตุช่วยเหลือ มีแผนเผชิญเหตุ

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2568 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์สงกรานต์ ประจำปี 2568 “สงกรานต์เลี่ยงดื่ม เพิ่มพื้นที่สุข สนุก เคารพสิทธิ” พร้อมทำกิจกรรมขบวนแห่กลองยาวเชิญชวนร่วมงาน “สงกรานต์เลี่ยงดื่ม เพิ่มพื้นที่สุข สนุก เคารพสิทธิ” และแจกสื่อรณรงค์
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. กล่าวว่า ปี 2567 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกับเครือข่าย สำรวจความเห็นประชาชนต่อเทศกาลสงกรานต์ 4,011 คน พบเคยถูกประแป้งที่ใบหน้า 57.79% มีเด็กอายุต่ำว่า 18 ปีถูกประแป้งที่หน้า 76.77% ส่วนถูกแต๊ะอั๋ง/ลวนลาม32.43% ถ้าแยกเฉพาะผู้พิการพบว่าถูกประแป้ง 56.79% ถูกแต๊ะอั๋ง/ลวนลาม 50.62% เช่น จับมือ/แขน/เบียดเสียด 61.45% ลูบไล้ร่างกาย 37.19% จับแก้ม 34.47% มองแทะโลมทำให้อึดอัด ไม่ปลอดภัย 22.45% ถูกแซว/ล้อเลียนส่อไปในเรื่องเพศ 21.54% และถูกสัมผัส/ล้วงอวัยวะอื่น ๆ 16.55%
“ผลสำรวจสะท้อนว่า เราต้องสร้างกระแสให้สังคมเข้าใจเรื่องการให้เกียรติ เคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม หรือคุกคามทางเพศ และไม่ใช้ความรุนแรง ผู้ถูกกระทำสามารถขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หน่วยงานในพื้นที่ เช่น ตำรวจ หรือสายด่วน 191 ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวง พม. ผ่านสายด่วน 1300 และ ผ่าน Line :@esshelpme เพื่อหยุดพฤติกรรมการกระทำผิด และไม่ให้ไปกระทำซ้ำกับผู้อื่น” ปลัด พม. กล่าว

นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สสส. ยังคงร่วมกับภาคีเครือข่ายฯ รณรงค์สนับสนุนให้จัดกิจกรรมเล่นน้ำอย่างสร้างสรรค์ ปลอดภัยไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจุบันมีพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยกว่า 100 พื้นที่ มีถนนตระกูลข้าว (ปลอดเหล้า) 60 แห่ง รวมถึงได้สื่อสารรณรงค์ผ่านภาพยนตร์โฆษณารณรงค์ช่วงเทศกาลสงกรานต์แคมเปญ “ดื่มแล้วขับ นับเป็นฆาตกร” เพื่อให้หยุดพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ “เมาแล้วขับ” ก่อนที่จะต้องมีคน “ร้องขอชีวิต” ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของคนไทย ปี 2564 แม้มีแนวโน้มลดลงเหลือ 28% แต่ยังมีเยาวชนเป็นนักดื่มมากถึง 1.9ล้านคน การดื่มแล้วขับมีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน
“ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปรียบเทียบปี 2566-2567 พบการเกิดอุบัติเหตุ 2,044 ครั้ง ลดลง 159 ครั้ง คิดเป็น 7.22% ผู้บาดเจ็บ 2,060 คน ลดลง 148 คน คิดเป็น 6.70% ผู้เสียชีวิต 287 คน เพิ่มขึ้น23 คน หรือ 8.71% นี่คือเหตุผลที่ สสส. ต้องร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์อย่างหนัก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสงกรานต์ปีนี้ จะเป็นสงกรานต์เลี่ยงดื่ม เพิ่มพื้นที่สุข สนุก เคารพสิทธิ สร้างค่านิยมที่ดีของสังคมเพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ตามวิถีไทยดีงามให้คงอยู่ต่อไป” นางก่องกาญจน์ กล่าว

นางสาวอังคณา อินทสา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับปัญหาในช่วงเทศกาลสงกรานต์จากกลุ่มตัวอย่าง 2,552 คน ของมูลนิธิฯและเครือข่ายพบว่าผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงสงกรานต์ยังเป็นประเด็นสำคัญ คือ ถูกก่อกวนจากคนเมา 26.4% พฤติกรรมก้าวร้าวของคนเมาทำให้หวาดกลัว 19.7% ปัญหาเมาแล้วขับ 16.7% ทะเลาะกันในครอบครัว 11.5%ถูกคนเมาลวนลาม 10.8% และถูกคนเมาทำร้ายร่างกาย 3.8%
ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงมีข้อเสนอในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่สร้างสรรค์ ปลอดภัยสำหรับทุกคน ดังนี้ 1. เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องบังคับใช้กฎหมายอาญาเรื่องการลวนลามทางเพศ และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น เช่น ไม่ขายเกินเวลา ไม่ขายให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ขายให้คนเมา ไม่ขายในที่ห้ามขาย เป็นต้น 2. ผู้จัดงานต้องประชาสัมพันธ์กฎหมายเกี่ยวกับการลวนลามทางเพศ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดการกระทำผิด สนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่จัดสงกรานต์สร้างสรรค์ ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการคุกคามทางเพศ 3. ผู้พบเห็นต้องไม่นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ และเข้าไปแทรกแซงเพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ในพื้นที่จัดกิจกรรมเล่นน้ำต้องมีจุดรับแจ้งเหตุให้ความช่วยเหลือ มีแผนเผชิญเหตุให้ชัดเจน 4. ครอบครัว สถาบันการศึกษาควรปลูกฝังเรื่องทัศนคติการเคารพเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น เพราะยังมีความเชื่อที่ผิดว่าสงกรานต์เป็นช่วงเวลาทองของการฉวยโอกาส ซึ่งไม่ถูกต้อง และไม่ว่าเทศกาลใดหรือผู้เสียหายจะแต่งตัวแบบไหน เราก็ไม่มีสิทธิไปละเมิดใคร
ด้าน นายนำโชค กระจ่างศรี อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ในช่วงวัยรุ่นตนและเพื่อนต่างรอคอยเทศกาลสงกรานต์เพราะจะได้ปลดปล่อย ทำอะไรก็ได้ ทั้งกิน ดื่ม เที่ยว และในใจยังคิดจะฉวยโอกาส โดยไม่ได้เข้าใจ หรือสนใจเรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกายหรือการเคารพให้เกียรติคนอื่น คิดว่าคนที่มาเล่นสงกรานต์คือคนที่พร้อมจะโดน ดังนั้นสงกรานต์จึงกลายเป็นเทศกาลที่ไปหาเหยื่อ เก็บแต้ม เริ่มตั้งแต่ประแป้ง ถึงเนื้อถึงตัว ไปจนถึงการมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ตนเพิ่งจะมาปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดและพฤติกรรมในเรื่องการเคารพสิทธิผู้อื่น การให้เกียรติผู้หญิงและทุกเพศสภาพเพราะถูกขัดเกลาจากบ้านกาญจนาภิเษก นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ และครูทุกคน หลังจากที่ก่อคดีและถูกลงโทษติดคุกเด็กในช่วงวัยรุ่น

“ผมและแฟนได้รับการอบรม ทำกิจกรรมในบ้านกาญจนาฯ ทำให้ได้ซึมซับเรื่องความเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ การเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เห็นคุณค่าในตัวเอง มองไปถึงอนาคตพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน มันส่งผลกับชีวิตคู่และครอบครัวของผมมากๆ ทุกวันนี้ผมและภรรยา มีลูก มีครอบครัวที่อบอุ่น ไม่เคยใช้ความรุนแรงและมีความสุขดีหากมีโอกาสก็จะไปทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับสังคมเสมอในนามกลุ่มผู้ถูกเจียรไน ก็แอบคิดตลอดเวลาว่าถ้าระบบการศึกษาของไทยได้บ่มสอนแบบที่บ้านกาญจนาภิเษกขัดเกลา เจียรไนพวกเรา ปัญหาสังคมคงลดลงไปมาก สงกรานต์นี้อยากจะบอกเพื่อนๆ น้องๆ ว่าเหล้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงเถอะ สนุกแบบมีสติดีกว่า และควรเคารพให้เกียรติผู้อื่น มีเวลาทำกิจกรรมดีๆ คืนความสุขให้คนที่เรารัก ให้ครอบครัว” นายนำโชค กล่าว