โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ Fluke Free Thailand โดย สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมจัดงาน “มหกรรมรณรงค์เพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น” ในวันที่ 7 มกราคม 2563 ณ ที่ว่าการอำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนรวมถึงสร้างเครือข่ายและพัฒนาความร่วมมือทั้งส่วนราชการและเอกชนในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างบูรณาการและยั่งยืน กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี นายทวิช พิมพะ นายอำเภอบ้านแฮด กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงาน
นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “โรคมะเร็งท่อน้ำดี เป็นปัญหาสาธารณสุขที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มีอุบัติการณ์การเสียชีวิตในประชากรวัยทำงานจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการสูญเสียในทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการบูรณาการทุกมิติอย่างยั่งยืน เราทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้จากต้นน้ำไปจนสุดปลายน้ำอย่างบูรณาการ ซึ่งก็คือการกำจัดพยาธิใบไม้ตับลดการแพร่กระจายตามแหล่งน้ำ กำจัดพยาธิใบไม้ตับในสัตว์รังโรค จัดการอาหารให้ปลอดภัย เพิ่มภูมิคุ้มกันทางปัญญาแก่เยาวชน จัดการข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบสามารถติดตามได้การคัดกรองและรักษาตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน โดยอำเภอบ้านแฮด เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องของจังหวัดขอนแก่น ที่กำหนดให้มีการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างบูรณาการผ่านกลไกของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งเรียกรูปแบบการดำเนินการนี้ว่า “บ้านแฮดโมเดล”ซึ่งเรามุ่งหวังว่าจะเกิดการสร้างเครือข่ายและพัฒนาความร่วมมือทั้งส่วนราชการและเอกชน สร้างและกระตุ้นแรงขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างบูรณาการและยั่งยืน”
รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย มะเร็งท่อน้ำดี กล่าวถึงกิจกรรมกับการต่อยอด “โครงการท้าทายไทย” ว่า สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของต่อยอด “โครงการท้าทายไทย” ในการลดจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับจะต้องลดลงจนไม่เป็นปัญหาด้านสุขภาพรวมถึงเรื่องมะเร็งท่อน้ำดีก็ต้องลดลง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งท่อน้ำดีจะต้องตรวจพบในระยะแรกๆ และรักษาได้ทันท่วงที และผลจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมามีการตรวจพบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งท่อน้ำดีลดลงจาก 20% เหลือเพียง 5% เท่านั้น และสำหรับกิจกรรมที่เนินการอยู่ “บ้านแฮดโมเดล”นี้เป็นกิจกรรม “ท้าทายไทย”ที่รับเรื่องมาจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะสามารถเป็นจริงได้เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะความร่วมมือจากภาคประชาชนที่ได้ตระหนักรู้ถึงพิษภัยความรุนแรงจากโรคพยาธิใบไม้ตับและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคเพื่อให้โรคฯลดลงจนทำให้ไม่เป็นปัญหาสุขภาพ ทั้งนี้ หากอำเภอโมเดล “บ้านแฮดโมเดล”
หากประสบความสำเร็จก็จะสามารถนำไปเป็นตัวอย่างใช้กับอำเภออื่นๆ ในเขต 4 จังหวัด ร้อยแก่นสาระสินต่อไป และปี 2563นี้ จะมีการดำเนินกิจกรรมแบบนี้ในอีก 6 อำเภอ และถ้า 6 อำเภอนี้ประสบความสำเร็จก็จะเป็นโมเดลตัวอย่างและจะขยายต่อยอดออกไปจนครอบคลุมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในภาคเหนือ ทั้งนี้หากสามารถนำไปเผยแพร่ได้ตามมาตรการที่วางไว้โอกาสที่จะสามารถทำให้พยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีลดลงจนไม่เป็นปัญหาสุขภาพของคนไทย ทั้งนี้การได้รับทุนจาก (วช.) นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการขับเคลื่อน โครงการท้าทายไทย “ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ” ให้ประสบความสำเร็จได้ตามเปาหมายที่วางไว้
นายทวิช พิมพะ นายอำเภอบ้านแฮด กล่าว่า สำหรับการดำเนินกิจกรรม “บ้านแฮดโมเดล” เป็นที่แรกถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะเรื่องสุขภาวะที่ดีของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และก็ตรงตามวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการพิจารณาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ซึ่งไปประกอบด้วยหน่วยงานทุกภาคส่วนรวมถึงตัวแทนพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ ดังนั้นจะมีการการดำเนินการในภาพรวมทั้งหมด ทั้งในเชิงป้องกัน และการดูแลรักษา สำหรับโครงการนี้ไม่ได้เริ่มต้นภายในวันนี้เป็นวันแรกแต่มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีการจัดประชุมสร้างการรับรู้ให้กับผู้ที่มีส่วนร่วมรวมถึงประชาชนที่เป็นแกนนำชุมชนระดับต่างๆมาโดยตลอด
ทั้งนี้ในอำเภอบ้านแฮดมีอาสาสมัครที่เป็นแกนนำมารับความรู้จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และจากทางสถาบันวิจัยมะเร็งฯ มาโดยตลอดและพร้อมที่จะขับเคลื่อนในพื้นที่ที่วางเป้าหมายไว้ ซึ่งแผนงานต่างๆแกนนำจะเป็นผู้คิดและนำเสนอขึ้นมาและร่วมกันดำเนินการในระดับอำเภอ และมีการกระตุ้นให้มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องโดยทางอำเภอได้ตั้งเป้าที่จะลดจำนวนผู้ป่วยลงให้เหลือเพียง 1% ภายใน 3 ปี ซึ่งสิ่งสำคัญในการลดจำนวนผู้ป่วยก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนระดับครัวเรือนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงความเสี่ยงของโรคฯที่เป็นภัยเงียบ ทั้งนี้เมื่อมีการนำองค์ความรู้จากนักวิชาการภาคีเครือข่ายต่างๆนำส่งข้อมูลสู่ภาคประชาชนระดับต่างๆโดยเฉพาะระดับรากหญ้าก็สามารถดึงแนวร่วมมาเข้าโครงการได้ง่ายขึ้น ประกอบกับการมีผู้นำชุมชนที่มีจิตอาสาซึ่งมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนกิจกรรมพร้อมทั้งการได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันวิจัยมะเร็งฯ เขตสุขภาพพื้นที่ 7 ภาคประชาชน ซึ่งก็จะทำให้ส่วนราชการสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นและเป้าหมายที่วางไว้ภายใน 3 ปีจะสามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
ด้านนายสุทธินันท์ บุญมี ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 กล่าวว่า สำหรับพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัดร้อยแก่นสาระสินมีทุกอำเภอที่เป็นอำเภอเป้าหมายโดยเขตสุขภาพฯร่วมกับสถาบันมะเร็งฯได้ดูข้อมูลพื้นฐานถึงปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเขตพื้นที่ส่วนไหนที่มีความรุนแรงก็จะมีการกำหนดกรอบและกระชับพื้นที่เป้าหมายเพื่อไปดำเนินการอาทิ อำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ,อำเภอโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม , อำเภอศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ดฯลฯ ดังนั้นเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนก็สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด และยั่งยืน
ด้านน.ส.ธรรมภรณ์ ประภาสะวัต ผู้แทนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ” เป็นโครงการมีการตั้งเป้าหมายอย่างจริงจังที่จะช่วยเหลือประชาชนลดการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ รวมถึงมะเร็งท่อน้ำดีให้ได้มากที่สุด ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้เป็นเพียงโครงการที่ท้าทาย (วช.) หรือทีมนักวิจัย หากเป็นการท้าทายความร่วมมือในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพ่อ แม่พีน้องประชาชนในพื้นที่ทุกคนซึ่งกิจกรรมในวันนี้นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับทุกคนที่มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมดีๆในโครงการฯนี้ จึงอยากฝากพี่น้องประชาชนทุกคนกับความรู้ที่จะได้รับไปจากโครงการดีแบบนี้ โดยจะต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อนทุกๆคนแล้วหันไปดูแลครอบครัวและคนรอบข้าง และหากสามารถทำได้โโอกาศที่โรคพยาธิใบไม้ตับ และโรงมะเร็งท่อน้ำดีจะหมดไปจากประเทศไทยจึงเป็นเรื่องเป็นไปได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ วช.พร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนและความยั่งยืนอย่างแท้จริงเพื่อให้บรรลุไปตามเป้าหมายที่วางไว้
นพ.วีรศักดิ์ อนุตรอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิรินธรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในส่วนบทบาทของโรงพยาบาลสิรินธรจังหวัดขอนแก่นนั้นเป็นรพ.ขนาดใหญ่ที่สุดในโซนใต้จังหวัดขอนแก่นมีเตียงรองรับผู้ป่วยขนาด 250 เตียงและมีแพทย์ให้การรักษาโดยประมาณ 40คน โดยมีความรับผิดชอบในเขตพื้นที่อำเภอบ้านแฮด และอำเภอเมือง รวมถึงเรื่องของการคัดกรอง หรือการส่งเสริมรณรงค์ป้องกันโดยทางทีมเครือข่ายเวชกรรมสังคมของรพสิรินธธร.ฯได้ให้ความร่วมมือกับทางอำเภอ และเทศบาลอยู่แล้วเป็นอย่างดี ส่วนการรักษารพ.สิรินธรฯจะสามารถรักษาโรคได้ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น โดยร่วมมือกับโดรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นซึ่งเป็นแม่ข่ายของรพ.สิรินธร ซึ่งระยะทางก็ไม่ไกลกันมากเพราะฉะนั้นความร่วมมือในเรื่องนี้จึงเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและเชื่อว่าจะดูแลพี่น้องประชาชนในเขตอำเภอบ้านแฮด และทางโซนใต้ของขอนแก่นได้อย่างทั่วถึง สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งถุงน้ำดีค่อนข้างน้อยเนื่องจากทางรพ.ฯมีแพทย์ศัลยกรรมเพียง 2 คน เพราะฉะนั้นรพ.สิรินธรฯจึงร่วมมือกับรพ.ศูนย์ขอนแก่นในการให้การรักษา หากรพ.สิรินธรฯตรวจพบความผิดปกติจากการคัดกรองของผู้ป่วยก็จะส่งไปรักษาที่รพ.ศูนย์ขอนแก่นต่อไป
สำหรับ โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาสำคัญให้กับประเทศอย่างแท้จริง และทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่เกี่ยวข้องกับโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ อย่างทันเวลา เท่าเทียม มีคุณภาพ และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยการขจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีนั้น จะกระทำให้สำเร็จโดยภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาให้สัมฤทธิ์ผลและต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอีสานประชาชนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีลงให้เหลือน้อยที่สุด