กิจกรรมส่งเสริมให้ความรู้ “บ้านแฮดโมเดล” เป็นการจัดกิจกรรมพร้อมนิทรรศการส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับประชาชนได้ตระหนักถึงพิษภัยของการรับทานอาหารสุกๆดิบๆที่ยังให้เกิดผลเสียขึ้นกับประเทศในหลายๆด้าน ดังนั้น การจัดกิจกรรมเหล่านี้จึงมีส่วนร่วมในการรณรงค์สร้างความตระหนักถึงภัยของพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยให้น้อยลงมากที่สุดจนไม่เป็นปัญหาด้านสุข และหมดไปจากประเทศไทย
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้รับเกียรติจาก นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด ต่อจากนั้นประธานในพิธีพร้อมด้วยคณะผู้บริหารได้เข้าเยี่ยมชมการจัดนิทรรศการให้ความรู้ในการรณรงค์ป้องกันกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ของโครงการวิจัยภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) อาทิ การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับด้วยแอนติเจนในปัสสาวะ, การจัดการระบบสุขาภิบาลและสิ่งปฏิกูล, การใช้หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนเพื่อพัฒนาภูมิคุ้มกันในเยาวชน, อาหารปลอดภัย ปลาปลอดพยาธิ, ระบบ Isan cohort และการจัดแสดงผลการดำเนินงานรณรงค์สร้างความตระหนักถึงภัยของพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีจากหน่วยงานในพื้นที่อำเภอบ้านแฮด
จากนั้นคณะผู้บริหารได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการบริการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับจากแอนติเจนในปัสสาวะ ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมวิจัยที่ได้จากโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ และเยี่ยมชมการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยการตรวจอัลตร้าซาวด์ ที่ทางสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้จัดขึ้นเพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ โดยกิจกรรมการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่สงสัยว่าเป็นพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี นั้นจะทำการบันทึกข้อมูลลงในฐานข้อมูลระบบ Isan Cohort ซึ่งเป็นระบบ Big Data ที่ทำหน้าที่ติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยจากต้นไปจนจบ ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบกว่าสองล้านคนและสามารถติดตามผลข้อมูลได้แบบ Realtime
จากการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) เกิดผลสำเร็จเป็นอย่างมากในการทำวิจัยและการนำผลไปใช้ในพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อประเทศ ได้แก่ 1) ลดอัตราผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในกลุ่มเสี่ยงจากร้อยละ 42.8 เป็นร้อยละ 13.4 และขณะนี้ลดลงเหลือร้อยละ 7.7 เท่ากับลดลง 6 เท่า 2) เพิ่มการเข้าถึงการรักษา โดยจำนวนผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้นสามารถเข้ารับการผ่าตัดเพิ่มจากร้อยละ 21.8 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 84.5 เท่ากับเพิ่มขึ้น 4 เท่า และ3) ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี โดยอัตราการรอดชีพใน 5 ปีของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเพิ่มจากร้อยละ 17.3 เพิ่มเป็นร้อยละ 48.3
การจะดำเนินการแต่เพียงในโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางสุขภาพด้วยการตั้งรับเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้ร่วมกัน สอดรับกับอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ยึดถือการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการอุทิศเพื่อสังคม สร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม